ศูนย์ฯ ร่วมกับ บพค. จัดงานปัจฉิมนิเทศ พร้อมขับเคลื่อนกำลังคนสู่ความสำเร็จในโลกอุตสาหกรรม

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ในโครงการพัฒนานักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกและนักวิจัยระดับหลังปริญญาโท ที่สนับสนุนโดย บพค. จัดงานปัจฉิมนิเทศนักวิจัย ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 โดย ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และ ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ในงาน ศ.ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ ได้รายงานผลการดำเนินโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานักวิจัยทั้งหมด 40 คน ให้สามารถสร้างนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ BCG และเทคโนโลยีขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีบริษัทเอกชนจำนวน 23 แห่ง เข้าร่วมสนับสนุน โดยผลงานที่เกิดขึ้นได้นำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ภายในงาน

กิจกรรมพิเศษของงาน คือ เสวนาเรื่อง “Next Step Towards Industry Success ก้าวสู่ความสำเร็จในโลกอุตสาหกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และดำเนินเสวนาโดย ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ

เสวนานี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาความพร้อมของนักวิจัยให้สามารถประสบความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งแนวโน้มที่ความต้องการแรงงานแบบเดิมลดลง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง สาเหตุหนึ่งมาจากการทำอุตสาหกรรมแบบเก่าที่ผลิตสินค้าชนิดเดิมป้อนตลาดอันมีอยู่จำกัด ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบทันสมัย เพื่อผลิตสินค้ามูลค่าสูงเข้าสู่ตลาดรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนให้สามารถคิดค้นต่อยอดงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรมได้

ด้านนักวิจัยควรพัฒนาตนเองให้รู้กว้างและรู้ลึก รวมถึงมีทัศนคติเชิงบวกในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เครือข่ายที่แข็งแกร่งระหว่างนักวิจัย ภาครัฐ และภาคเอกชน ยังมีบทบาทสำคัญในการสานต่อผลงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งธุรกิจยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ มีการพัฒนานักวิจัยระดับสูงมาโดยตลอด และได้รับทุนจาก บพค. เพื่อพัฒนากำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th