
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ นำโดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ และศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ พร้อมด้วยผู้บริหารและคณะทำงานฝ่ายวิจัย ได้เดินทางไปเข้าพบคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันร่วมของศูนย์ฯ เพื่อร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

ในการนี้ ศ.ดร.หทัยกานต์ ได้กล่าวเปิดประชุมและนำการหารือในเวลาต่อมา โดยศูนย์ฯ ได้แนะนำโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ ด้านอาจารย์ ดร.เจริญ ชินวานิชย์เจริญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี ได้แนะนำงานวิจัยของภาควิชาฯ จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาข้อเสนอโครงการเพื่อเตรียมขอทุนด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิจัย รวมถึงได้แนะนำโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน “Hub of Talents: Sustainable Materials for Circular Economy”


นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยภาควิชาวิศวกรรมเคมีนั้นกำลังจะร่วมมือกับศูนย์ฯ ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิจัยด้านไมโครพลาสติก ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไปภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการให้ได้รับมาตรฐาน ซึ่งทำงานวิจัยเฉพาะทางที่สนับสนุนแนวทางในการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน