
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Hub of Talents: Sustainable Materials for Circular Economy) ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ ประชุมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. เพื่อหารือความร่วมมือในหัวข้อ “Green Industry: End of Waste Strategy เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ

การประชุมมีศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ กล่าวเปิดงานพร้อมนำเสนอความก้าวหน้าในด้านการวิจัยของศูนย์ฯ โดยมีหัวหน้าสถาบันและอาจารย์จากเครือข่ายต่างๆ ร่วมแนะนำงานวิจัยและความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุยั่งยืน

ด้านศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ดร.สิทธิสุนทร สุโพธิณะ รองผู้อำนวยการ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ก่อนที่ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย หัวหน้าทีมวิจัย และนักวิจัย จะนำเสนอผลงานวิจัยด้านวัสดุที่ตอบโจทย์การลดของเสียและการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร รวมถึงนวัตกรรมระดับ Waste Champion ตัวอย่างเช่น โบนไชน่าจากก้างปลาทูน่า โซเดียมซิลิเกตจากแกลบข้าว วัสดุทางเลือกสำหรับงานก่อสร้าง ยิปซัมสังเคราะห์ ตัวดูดซับคาร์บอน ฯลฯ

การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยวัสดุยั่งยืน รวมถึงผลักดันโครงการขนาดใหญ่ และทำงานเชิงนโยบายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสีย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต พร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศไทยให้ก้าวไปอีกขั้น
