
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 2 ปี 2567 เพื่อติดตามการดำเนินงานและพิจารณาวาระการประชุมต่างๆ ร่วมกัน วันที่ 19 กันยายน ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารวิจัยจุฬาฯ

คณะกรรมการบริหารผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน หัวหน้าและผู้แทนหัวหน้าสถาบันร่วมของศูนย์ฯ โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ได้นำการรายงานในที่ประชุม โดยเฉพาะผลดำเนินงานตลอดปีงบประมาณ 2567

ในการทำวิจัยและการให้บริการวิชาการ ศูนย์ฯ ได้ดำเนินโครงการที่เน้นการวิจัยและพัฒนาในด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี วัสดุยั่งยืน การพัฒนานักวิจัยขั้นสูง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการจัดการของเสีย มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน อบรมพัฒนาทักษะความรู้ จัดงานประชุมวิชาการ และสนับสนุนการวิเคราะห์ทดสอบ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผลงานวิจัยตีพิมพ์ ฯลฯ

โครงการสำคัญที่ดำเนินงานโดยศูนย์ฯ อาทิ โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โครงการแพลตฟอร์มการพัฒนานักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกและนักวิจัยระดับหลังปริญญาโท โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการการยกระดับศักยภาพบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร โครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล เป็นต้น รวมถึงมีโครงการเพิ่มเติมที่อยู่ในระหว่างการยื่นข้อเสนอ

นอกจากศูนย์ฯ เป็นผู้นำด้านปิโตรเคมีและวัสดุแล้ว ปัจจุบันยังมุ่งหน้าความเป็นเลิศสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตัวอย่างเช่น การวิจัยวัสดุสำหรับพลังงานชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และวัสดุการแพทย์ นวัตกรรมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ตลอดจนการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศการวิจัยใหม่ของไทยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ