ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมทางการแพทย์ ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ตลาดโลก” โดย ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ดำเนินรายการพูดคุยกับ ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ วิทยากรรับเชิญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เจลยางพารา ป้องกันแผลกดทับ
เสวนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. (อว. แฟร์) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการ กปว. นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมฟังเสวนาและมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และวิทยากร
ภายในการเสวนามีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เริ่มจากปัญหาจริงที่ผู้ป่วยผ่าตัดต้องนอนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลกดทับ จึงมีความต้องการวัสดุกระจายแรง อันมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ดังนั้น จึงได้มีการประดิษฐ์วัสดุกระจายแรงจากยางพาราในประเทศไทย อันมีความยืดหยุ่นและมีการกระจายแรงที่ดี กอปรกับมีการคิดสูตรยางพาราและกระบวนการผลิตที่สามารถขยายขนาดการผลิตได้ง่าย จึงสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานในราคาที่ถูกกว่าสินค้านำเข้า
ความสำเร็จนี้ไม่เพียงเกิดจากความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรม แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานมากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ที่สนับสนุนโครงการสร้างนักวิจัยขั้นสูงผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.สงขลาฯ ที่สนับสนุนการสร้างโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์เจลยางพารา ป้องกันแผลกดทับ
ปัจจุบัน บริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ลูกบอลบริหารมือป้องกันนิ้วล็อก เบาะรองนั่งลดอาการออฟฟิศซินโดรม และเสื่อละหมาดฮาลาล ตามความต้องการที่ต่างกันของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นกระบวนการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่เสียหายหรือหมดอายุการใช้งานแล้วให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
นวัตกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริงตั้งแต่ผู้ป่วยจนถึงผู้คนทั่วไป จากในประเทศสู่ตลาดโลก