ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ในโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง “การคาดการณ์อนาคตและความท้าทายสำหรับการพัฒนาการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย” ภายในงาน Interplas Thailand 2024 ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา โดย ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ
เสวนานี้ประกอบด้วยอาจารย์นักวิจัย ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ผศ.ดร.อุทัยพร สุริยประภาดิลก ศ.ดร.อลิสา วังใน อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ สวทช. และคุณสิริพร อติเรกลาภ ผู้จัดการ บริษัท โนโวไซม์ (ประเทศไทย) จำกัด (ส่วนหนึ่งของ Novonesis) โดย อ.ดร.ณัฐพงศ์ ซื่อวิริยพันธุ์ เป็นผู้ดําเนินเสวนา
ผศ.ดร.อุทัยพร ได้นำเสนอภูมิทัศน์ของการวิจัยตัวเร่งทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งหันมาเน้นการใช้ประโยชน์มากขึ้นทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วน ศ.ดร.อลิสา ได้นำเสนอการนำตัวเร่งชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหารคนและอาหารสัตว์ ผงซักฟอก และเซนเซอร์ตรวจวัดน้ำตาล นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาผลิตเพปไทด์อันมีฤทธิ์ทางชีวภาพ สารสำคัญในอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ตลอดจนน้ำตาล กรดอะมิโน ไบโอเอทานอล ฯลฯ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร
ข้อดีของตัวเร่งชีวภาพอย่างเอนไซม์และจุลินทรีย์ คือ ความจำเพาะดีมาก และกระบวนการที่ใช้ตัวเร่งชีวภาพนั้นมีประสิทธิภาพสูงมาก ทำให้ผลได้มีมากขึ้น ส่วนของเสียรวมทั้งคาร์บอนได้ออกไซด์มีน้อยลง โดยรวมจึงช่วยให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ มีความคุ้มค่ามากขึ้น และช่วยลดภาวะโลกร้อน
โดย ภาครัฐอย่าง สวทช. มีบทบาทในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาจารย์นักวิจัยกับภาคเอกชนให้สามารถวิจัยตัวเร่งชีวภาพที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าจริงผู้ใช้งานตัวเร่งในระดับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรสนับสนุนด้านงบประมาณโดยเฉพาะในการทดลองขยายขนาดกำลังผลิต รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาตัวเร่งชีวภาพอีกด้วย
เสวนานี้มุ่งหวังให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันพัฒนาตัวเร่งชีวภาพสู่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศอันมีความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การตอบโจทย์อนาคตประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและความยั่งยืน