
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดเสวนาในหัวข้อ “Powering Up Thailand Society by BCG” ระหว่างคุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และคุณเกศทิพย์ หาญณรงค์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด โดยคุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรมของศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 11.00 – 12.00 น. ณ บริเวณ Crystal Court ศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมกันนี้ศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรม ในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 (TechnoMart 2022) ภายใต้การจัดงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

การเสวนาให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าวถูกสะสมมานาน และกำลังส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
โดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย มีวิสัยทัศน์ในการผลักดันประเทศไทยสู่ผู้นำด้านการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สนับสนุนให้ลดการใช้พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ โดยหันมาใช้พลาสติกชีวภาพ อันประกอบด้วยพลาสติกที่ผลิตจากแหล่งธรรมชาติ และพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะ อีกทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ
ด้านบริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล ปัจจุบันประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติก โดยส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำขยะที่รีไซเคิลได้ไปขาย ขณะที่ขยะส่วนที่ขายไม่ได้นั้น โยโลนำไปศึกษาเพื่อหาแนวทางในการใช้ประโยชน์โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับชุมชนเหล่านั้น ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการวิจัยบวกกับใส่ไอเดียเพื่อสร้างเป็นชิ้นงานผลิตภัณฑ์ เช่น กระถางแคกตัส โคมไฟ ชิ้นส่วนสำหรับทำกระเป๋าถือแฟชั่น เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากโดยเฉพาะในต่างประเทศ เนื่องจากตอบโจทย์ความยั่งยืน จึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ซื้อไปใช้หรือนำไปขายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ โดยกำไรที่โยโลได้ส่วนใหญ่ส่งกลับคืนไปสู่ชุมชน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้แล้ว การหันมาใช้พลาสติกชีวภาพและการหมุนเวียนขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการสนับสนุนหลักเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ จึงเป็นการยกระดับสังคมไทยด้วย BCG อย่างแท้จริง
หลังเสร็จสิ้นการเสวนา ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วยวิทยากร และผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ได้รับมอบของที่ระลึกจากกระทรวง อว. โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นผู้แทนในการมอบของที่ระลึก

สำหรับนิทรรศการนวัตกรรม ศูนย์ฯ ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่พร้อมยกระดับสู่เชิงพาณิชย์ อันได้แก่นวัตกรรม Cello-gum โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ นวัตกรรม Green Guardian โดยศาสตราจารย์ ดร.ดวงดาว อาจองค์ และนวัตกรรม Film Protextor โดยศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมตลอดทั้งช่วงเวลาการจัดงาน


คลิปงานเสวนา “ยกระดับสังคมไทยด้วย BCG”