ศูนย์ฯ จัดเสวนากับกูรูด้านยาง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้จัดเสวนาเรื่องอุตสาหกรรมยางเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน “Rubber Industry for Circular Economy” ซึ่งมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณปณิธาน ชุณหสวัสดิกุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอินโนเวชั่น คุณชลธิชา บรรดาประณีต กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.จี.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ อาจารย์ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

เสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม MR 217 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายในงานแสดงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตพลาสติกและยางแห่งปีของประเทศไทย “Plastic & Rubber Thailand 2023” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศูนย์ฯ ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมการจัดงาน โดยศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนา ซึ่งมีจำนวน 52 คน ก่อนที่การสนทนาจะเริ่มต้นขึ้น

คุณปณิธาน ได้เปิดการเสวนาโดยเริ่มต้นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมยางและพลาสติกนั้นมีการพูดถึงมากขึ้นเกี่ยวกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการผลักดันให้นำวัสดุชีวภาพและวัสดุรีไซเคิลเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบมากขึ้นในการผลิต ตลอดจนเกิดการผลักดันให้มีการพิจารณาผลกระทบของผลิตภัณฑ์อันมีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การประเมินวัฏจักรชีวิตและการคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์

ต่อมาคุณชลธิชา ได้กล่าวว่าทุกวันนี้เศษยางกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตเล็งเห็นว่าสามารถนำไปรีไซเคิล โดย บี.จี.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล คือหนึ่งในผู้ผลิตยางรีไซเคิลหลายชนิดภายใต้แบรนด์ eko Rubber ซึ่งสามารถผลิตเป็นสินค้าได้มากมาย เช่น รองเท้าแตะ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของยางรีไซเคิล

จากนั้น รศ. ดร.ศิริลักษณ์ ได้นำเสนอนวัตกรรมเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติยืดหยุ่น ดูดซับแรกกระแทกได้ดี อีกทั้งสามารถผสมสารเรืองแสงที่ทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะมองเห็นได้ดีขึ้นในเวลากลางคืน โดยยางรีไซเคิลก็เป็นวัสดุที่น่าสนใจที่อาจนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ รวมทั้งเสาจราจรดังกล่าว

โดยคุณปณิธานมองว่าการนำยางรีไซเคิลเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นมีข้อควรคำนึงโดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยางรีไซเคิล ซึ่งสอดคล้องกับคุณชลธิชาที่เห็นว่าควรมีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางรีไซเคิล เพื่อให้เกิดความมั่นใจของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งมักเข้าใจผิดว่ายางรีไซเคิลเหมือนกับยางรีเคลม ทั้งที่จริงนั้นแตกต่างกัน โดยยางรีไซเคิลมีคุณภาพสูงกว่ากันมาก ด้าน รศ. ดร.ศิริลักษณ์ ยังเสริมว่าการลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่กำลังมาในด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยนั้นจะช่วยส่งเสริมการพัฒนายางรีไซเคิลให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงช่วยพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยคุณปณิธานให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ด้วยการให้นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นรับรู้ถึงความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงโจทย์วิจัยต่างๆ โดย ศ. ดร.หทัยกานต์ ได้กล่าวเสริมว่าขณะนี้ภาครัฐมีทุนที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม โดยศูนย์ฯ คือหน่วยงานที่ขอทุนจากภาครัฐและเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นแล้ว วิทยากรยังกล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ผลิตและผู้ใช้ ตลอดจนผู้เก็บรวมรวมผลิตภัณฑ์ยางรีไซเคิล ก็เป็นผู้เล่นสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางรีไซเคิลนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ อีกทั้งปัจจุบันมีการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งควรมีการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมยางนั้นเกิดขึ้นได้จริงในที่สุด

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th