
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดปัจฉิมนิเทศโครงการ “การบ่มเพาะบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงระดับหลังปริญญาเอกด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจ BCG” และรายงานความก้าวหน้าโครงการ “การบ่มเพาะบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงระดับหลังปริญญาเอก หลังปริญญาโท สำหรับอุตสาหกรรมด้านพลังงานและวัสดุศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งอยู่ภายใต้แผนงาน National Postdoctoral/ Postgraduate System ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยมีหัวหน้าโครงการและนักวิจัย ร่วมนำเสนอโครงการ ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพ สยาม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2


วันดังกล่าวมี ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย ดร.นฤกมล ภู่ขาว ที่ปรึกษาบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอท เอนเนอจี โซลูชั่น จำกัด และ ดร.ยุทธนา ฐานมงคล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิชี้แนะนักวิจัยโครงการทั้งสอง ในด้านการต่อยอดผลงานไปสู่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดการบรรยายพิเศษเรื่อง “คาร์บอนเครดิตและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยวิทยากร คือ คุณณินทิรา อภิสิงห์ กรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ช่วงการนำเสนอผลงาน ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ หัวหน้าโครงการเรื่องการบ่มเพาะบุคลากรฯ ด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจ BCG และ ศ. ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ หัวหน้าโครงการเรื่องการบ่มเพาะบุคลากรฯ สำหรับอุตสาหกรรมด้านพลังงานและวัสดุศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจ BCG ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักวิจัยต่อประชากรไทยให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันนักวิจัยรุ่นใหม่สู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป้าหมายการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ส่วนในการบรรยายพิเศษ คุณณินทิรา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทย โดยเชื่อมโยงไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมให้ทันต่อนโยบายโลกด้านการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ คาร์บอนเครดิต ภาษีคาร์บอน การซื้อขายสิทธิ กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ฯลฯ รวมถึงทิศทางงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยวิทยากรยังร่วมให้ข้อเสนอแนะแก่นักวิจัยในช่วงการนำเสนอผลงาน

โครงการทั้งสองเรื่องนี้นอกจากจะพัฒนานักวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมแล้ว ผลงานภายใต้โครงการ ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ วัสดุดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แบคทีเรียลเซลูโลสสำหรับอาหารและเครื่องสำอาง ไบโอเซนเซอร์ แผ่นกรองฝุ่นละออง กล้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง สารเคลือบผิวที่เพิ่มประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยการวิจัยพอลิเมอร์ ยังเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมบีซีจีท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับยกระดับสังคมและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า
