ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขึ้นเวทีตอกย้ำศักยภาพปิโตรแมทในการยกระดับการวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ Empowering Plastic Industry with Academia-Industrial Partnerships ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ในงาน InterPlas Thailand 2022 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพิรา เจริญแสง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยพร สุริยประภาดิลก และคุณไพศาล หล่อพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการสมาคม ASEAN Vinyl Council (AVC) ได้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย

เริ่มต้นด้วยคุณไพศาล ซึ่งได้ให้ข้อมูลด้านวิสัยทัศน์และภารกิจของสมาคมฯ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับพลาสติกชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์ที่ใช้ผลิตท่อพีวีซี โดยพลาสติกชนิดดังกล่าวมีความทนทานและสามารถใช้งานได้ยาวนาน หลังจากเสื่อมสภาพแล้วก็ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ทั้งนี้การจัดการที่ดีจะทำให้พีวีซีเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรมากขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

ต่อมา ผศ.ดร.อัมพิรา และ ผศ.ดร.อุทัยพร ได้นำเสนอการทำงานและการวิจัยของทางวิทยาลัยฯ รวมถึงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯ กับทางสมาคมฯ โดยทั้งสองมีโครงการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการศึกษาพีวีซี รวมทั้งในด้าน Material Flow Analysis ซึ่งรวบรวมข้อมูลปริมาณการผลิต การใช้ และการกำจัด โดยฐานข้อมูลที่ได้จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถวางแผนจัดการการใช้พีวีซีได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้าน ศ.ดร.หทัยกานต์ ได้นำเสนอการทำงานของศูนย์ฯ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการที่จับคู่กับธุรกิจ SMEs ด้านพลาสติก 10 แห่ง เพื่อพัฒนาต้นแบบโรงงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการนี้ ภายใต้หัวข้อมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs ซึ่งมีโครงการย่อยที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลพีวีซีด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีโครงการที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในหลายโครงการ อาทิ โครงการทุนวิจัยหลังปริญญาเอกเพื่ออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ BCG โครงการแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการการสร้างมูลค่างานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในโครงการย่อยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เพื่อนำเสนอภาพรวมการสนับสนุนการวิจัยในภาคการศึกษาสู่การใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม โดยศูนย์ฯ เป็นองค์กรที่เชื่อมโยงสองภาคส่วนนี้ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการวิจัยได้อย่างแท้จริง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th