ประกาศความสำเร็จโครงการปั้นดาว… พร้อมก้าวสู่ต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

วันที่ 13 ก.พ. 2566 ณ อาคารวิจัยจุฬาฯ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้ต้อนรับคณะทำงานบริหารโครงการเรื่องการสร้างมูลค่างานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (ปั้นดาว) ซึ่งได้เดินทางมาประเมินผลโครงการปั้นดาวในระยะที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2563 และในระยะที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยศูนย์ฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการนี้จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในจำนวนทั้งหมด 6 เรื่อง

สำหรับวันดังกล่าวมีการประเมินผลโครงการวิจัยจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ (1) “Cello-gum การสกัดและการดัดแปรแบคทีเรียเซลลูโลสจากเศษวุ้นมะพร้าว สู่การเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์” (2) “Film Protextor การพัฒนาฟิล์มยางธรรมชาติแบบลอกออกได้ เพื่อประยุกต์ใช้ในงานเคลือบผิววัสดุในงานก่อสร้าง” (3) “Development of Low-cost Scientific Instruments for Higher Education Classroom and Laboratory และ (4) “Thermo-Lock Hydrogel นวัตกรรมไฮโดรเจลควบคุมระดับความชุ่มชื้นของดิน” ซึ่งรับผิดชอบโดยหัวหน้าโครงการวิจัยโดยเรียงตามลำดับ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ รองศาสตราจารย์ ดร.สเตฟาน ดูบาส และศาสตราจารย์ ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย

โดยหัวหน้าโครงการวิจัยแต่ละเรื่องได้สรุปความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการศึกษาวิจัย พร้อมนำเสนอแผนการปฏิบัติงานเพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนา ยกระดับและขยายการผลิต ตลอดจนสร้างแนวทางในการประกอบธุรกิจและกลยุทธ์การตลาด โดยได้รับคำแนะนำจากโค้ชของแต่ละโครงการวิจัย ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมและด้านการตลาด รวมถึงได้รับคำแนะนำจากคณะผู้ประเมินผลโครงการปั้นดาว ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้เป็นประธานคณะประเมิน

ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่แต่ละโครงการวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นสามารถขายได้และเกิดประโยชน์ต่อไปแก่สังคมในวงกว้าง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th