การประชุมกรรมการอำนวยการศูนย์ฯ ครั้งที่ 1/2565

ศูนย์ฯ จัดประชุมบอร์ดอำนวยการ: นำเสนอผลการดำเนินงานปี 64 – ปรับทิศทางการทำงานปี 65

 

วันที่ 7 ก.พ. 65 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุได้จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 เพื่อหารือในวาระต่าง ๆ และนำเสนอผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564

โดยที่ประชุมประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและบริษัทเอกชน และกรรมการท่านอื่น ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาฯ คุณวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) พร้อมด้วยอธิการบดีและผู้แทนจากอีก 4 มหาวิทยาลัยสถาบันร่วมของศูนย์ฯ ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ร่วมประชุมด้วย


ปีงบประมาณ 2564 ศูนย์ฯ ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกับแหล่งทุนจากภาครัฐ เช่น ทุน วช. บพข. บพค. สพฐ. สวทช.-ITAP และทุน วว. นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้มีการทำวิจัยร่วมกับ SMEs อีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท IRC และ บริษัท GRD Tech โดยศูนย์ฯ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 22 ที่


ส่วนปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ศูนย์ฯ ยังคงเดินหน้าสร้างโครงการวิจัยระหว่างเครือข่ายนักวิจัยภายในศูนย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานภายนอกซึ่งเป็นแหล่งให้ทุนสนับสนุนในการทำโครงการวิจัย โดยศูนย์ฯ ได้รับทุนโครงการวิจัยพื้นฐานเพื่อสนับสนุนโปรแกรมวิจัยเชิงบูรณาการ ประจำปี 2565 จำนวน 4 โครงการ ซึ่งดำเนินโครงการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีทุนที่กำลังอยู่ในระหว่างการขอร่วมกับสถาบันร่วมของศูนย์ฯ ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน


ด้านผลการดำเนินงาน ศูนย์ฯ มีผลงานเชิงประจักษ์ อาทิ วิทยานิพนธ์ วารสารวิชาการนานาชาติ สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เช่น UltraWe: กล่องฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี รวมถึงการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ และการจัดประชุมวิชาการหลายครั้ง เช่น PPC&PETROMAT Symposium 2021


สำหรับโครงการ “ทุนวิจัยหลังปริญญาเอกเพื่ออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ BCG” ระยะที่ 1 นั้น ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว และกำลังดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ส่วนโครงการวิจัย “มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ศูนย์ฯ เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดอบรมเมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อสร้าง Circular Economy Coach ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในการพัฒนาโรงงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับโครงการในปีถัดไป


นอกจากนี้ ศูนย์ฯ กำลังดำเนินโครงการ “ปั้นดาว 2” โครงการ “วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการจัดการขยะในโรงเรียน สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะในโรงเรียนอย่างยั่งยืน” โครงการ “แนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน” ฯลฯ


ทั้งนี้ศูนย์ฯ ได้รับมอบหมายภารกิจให้ดำเนินการภายใต้ กปว. ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ได้มีการหารือกันระหว่างปลัดกระทรวง อว. ผู้แทนอธิการบดี และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ ขณะนี้ศูนย์ฯ จึงอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนการวิจัยของประเทศ โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพื่อให้ศูนย์ฯ มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้นในปีต่อไปและมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จที่จะส่งผลในระดับชาติ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th