พอลิอินโดลผสมกราฟีน วัสดุประสิทธิภาพสูงสำหรับตรวจวัดไอระเหยเมทานอล ว่องไวและวิเคราะห์ไอระเหยได้แม้มีในปริมาณน้อย ช่วยสร้างความปลอดภัยให้ผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกับสารเคมีในระดับอุตสาหกรรม

พอลิอินโดลเป็นวัสดุพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่นำไฟฟ้าได้และสังเคราะห์ไม่ยาก ส่วนกราฟีนเป็นวัสดุอีกชนิดที่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุคาร์บอนจับกันเป็นรูปหกเหลี่ยมเรียงต่อกันเป็นแผ่นชั้นเดียว ซึ่งนำไฟฟ้าได้ดีมาก โดยสังเคราะห์ได้จากหลายวิธี เช่น นำแกรไฟต์ที่ประกอบด้วยแผ่นของกราฟีนที่ซ้อนทับกันหลายชั้นไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน เพื่อให้ภายในโครงสร้างมีหมู่ออกซิเจนขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยผลักให้แผ่นกราฟีนที่ซ้อนทับกันอยู่ในแกรไฟต์แยกชั้นออกมา วัสดุนี้เรียกว่ากราฟีนออกไซด์ หากนำกราฟีนออกไซด์ไปทำปฏิกิริยารีดักชันก็จะกำจัดหมู่ออกซิเจนขนาดใหญ่ภายในโครงสร้างของกราฟีน วัสดุอีกชนิดนี้เรียกว่ารีดิวซ์กราฟีนออกไซด์

งานวิจัยนี้ได้ทดสอบประสิทธิภาพในการตรวจวัดไอระเหยเมทานอลโดยใช้วัสดุผสมระหว่างพอลิอินโดลและกราฟีนแต่ละชนิด โดยขึ้นรูปด้วยวิธีการอัดผงให้เป็นแผ่นขนาดเล็ก แล้วนำไปทดสอบค่าการนำไฟฟ้าซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อตัววัสดุสัมผัสกับไอระเหยสารอินทรีย์ ทั้งนี้พบว่าวัสดุผสมระหว่างพอลิอินโดลกับ
กราฟีนออกไซด์ที่นักวิจัยได้สังเคราะห์ขึ้นเอง มีประสิทธิภาพสูงเทียบเคียงได้กับวัสดุผสมระหว่างพอลิอินโดลกับกราฟีนออกไซด์ที่หาซื้อได้ในท้องตลาดทั้งในแง่ความว่องไวและความเที่ยงตรงในการตรวจวัด โดยมีความจำเพาะต่อไอระเหยเมทานอลมากกว่าสารอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายแก่ผู้ทำงานจากการสูดดมสารเคมี เพื่อวิถีปลอดภัยทั้งในห้องปฏิบัติการและโรงงานอุตสาหกรรม

ผลงานโดย คุณเกษรา ผาสุขโสม ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ศิริวัฒน์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th