ช่วงหลังมานี้ มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ‘ไวรัสซิกา’ ที่แพร่กระจายโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ก็เคยระบาดในประเทศไทยในช่วงปี 2558 ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังโดยเฉพาะในฤดูฝน เพราะแม้ผู้ป่วยบางรายจะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย แต่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการผิดปกติ และตอนนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เรายังทำได้เพียงปกป้องตัวเราจากยุงลายและนำผู้ป่วยไปรักษา โดยต้องมีการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจเชื้อไวรัส

การตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาต้องทำในห้องปฏิบัติการณ์ด้วยวิธี RT-PCR โดยเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอของไวรัสที่ได้จากสารตัวอย่างและตรวจวัดว่าในสารตัวอย่างนั้นพบเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำสูง แต่ใช้เวลานานและมีราคาแพง จึงอาจไม่เหมาะกับการตรวจคัดกรองในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกำลังพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสซิกา โดยเตรียมวัสดุที่สามารถจับกับไวรัสซิกาได้อย่างจำเพาะ แล้วเคลือบวัสดุนี้บนเซนเซอร์ที่ทำหน้าที่ตรวจวัด และแสดงผลทางไฟฟ้าหากพบเชื้อไวรัสซิกาในสารตัวอย่าง วิธีนี้สามารถให้ผลได้ถูกต้อง แถมง่ายและสะดวกต่อการใช้งานจริง ทั้งยังสามารถนำไปใช้กับผู้ที่อาจติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ

ผลงานนี้วิจัยโดยคุณวรรณิสา สุขจี๋ ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักร แสงมา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th