แต่ไหนแต่ไรมา ขยะพลาสติกปิโตรเคมีได้สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมันถูกทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ ทำให้กำจัดหรือนำไปรีไซเคิลได้ยาก ทั้งยังไม่สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ ยิ่งในช่วงที่คนนิยมสั่งอาหารออนไลน์ทำให้ขยะพลาสติกเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกด้านผักตบชวาที่โตเร็วในช่วงหน้าฝนก็กำลังสร้างมลภาวะในแหล่งน้ำ สองปัญหานี้จะจัดการได้อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ดี ผักตบชวาก็ยังเป็นพืชชีวมวลที่เราสามารถนำไปเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไว้ใช้ แล้วหมุนเวียนกลับมาด้วยการปลูกทดแทน ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกได้ โดยกระบวนการแปรรูปพลังงานชีวมวลวิธีหนึ่งก็คือการนำขยะไปเผาในเตาให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงในสภาวะไร้ออกซิเจน หรือที่เรียกว่าวิธีไพโรไลซิส ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นถ่านชีวภาพ น้ำมันชีวภาพ และก๊าซเชื้อเพลิง เอาไว้ใช้เป็นแหล่งพลังงาน ทว่าน้ำมันชีวภาพที่ได้มักให้พลังงานความร้อนต่ำและมีสภาพเป็นกรดจึงอาจกัดกร่อนเครื่องยนต์จนเสียหาย

เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางในการแปรรูปขยะผักตบชวาและขยะพลาสติกให้เป็นพลังงานที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คุณชโลธร ผิวชะอุ่ม ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศรินทร์ โฆษะปะบุตร ภาควิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงกำลังทดลองปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันชีวภาพที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิสร่วมระหว่างผักตบชวากับขยะพลาสติกหลากหลายประเภท ซึ่งจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมสองต่อ ทั้งลดขยะให้โลกและได้น้ำมันชีวภาพเอาไว้ใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานนี้ได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th