รู้ไหมว่าไบโอดีเซลที่เราใช้ในรถยนต์ทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียม มีองค์ประกอบทางเคมีบางประการแตกต่างจากน้ำมันดีเซล อันอาจส่งผลให้เครื่องยนต์เสียหาย นักวิจัยจึงหันมาสนใจไบโอไฮโดรจีเนเต็ดดีเซลกันมากขึ้น เพราะเข้ากันได้ดีกับน้ำมันดีเซลที่ได้จากน้ำมันดิบมากกว่า ไบโอดีเซลชนิดนี้สังเคราะห์ได้จากไตรกลีเซอไรด์ด้วยกระบวนการทางเคมี ที่อุณหภูมิและความดันสูง โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมด้วย ปฏิกิริยานี้ต้องทำในเครื่องปฏิกรณ์ชนิดเบดคงที่ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการถ่ายเทความร้อนและมวลสาร การควบคุมความดัน อีกทั้งต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในปริมาณมาก เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ จึงสนใจการสังเคราะห์น้ำมันไบโอไฮโดรจีเนเต็ดดีเซลในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก ที่สามารถควบคุมการถ่ายเทมวลสาร อุณหภูมิ และความดัน รวมถึงใช้ตัวเร่งในปริมาณลดลงได้ด้วย งานวิจัยนี้ได้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาจากพาลาเดียม แพลตตินัม นิกเกล และโคบอลต์ บนตัวรองรับเซอร์โคเนีย จากนั้นได้ตรวจสอบเอกลักษณ์ของตัวเร่งที่เตรียมได้ ก่อนนำไปทดสอบสังเคราะห์น้ำมันไบโอไฮโดรจีเนเต็ดดีเซลจากน้ำมันปาล์มด้วยเครื่องปฏิกรณ์ชนิดไมโครสเกล เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การสังเคราะห์น้ำมันไบโอไฮโดรจีเนเต็ดดีเซลจากน้ำมันปาล์มด้วยเครื่องปฏิกรณ์ชนิดไมโครสเกล วิจัยและพัฒนาโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.petromat.org หรือ โทร 0-2218-4141 ถึง 2, Facebook: petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th