แม้หลายประเทศจะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อการเกิดสภาวะโลกร้อน กลับพบว่าก๊าซดังกล่าวในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ คือ การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยสารเอมีนในรูปของเหลว แต่ยังถูกจำกัดด้วยปัญหาด้านความเสถียรและการนำกลับมาใช้ซ้ำ ทีมวิจัยของผู้ศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล จึงได้เตรียมวัสดุของแข็งสำหรับใช้เป็นตัวดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนำไปใช้งานที่อุณหภูมิและความดันในช่วงกว้างได้ โดยสังเคราะห์สารซิลิกาที่มีขนาดพื้นที่ผิวสูงและมีรูพรุนขนาดจิ๋ว แล้วศึกษาผลของโครงสร้างและขนาดของรูพรุนต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังเชื่อมต่อสารเอมีนเข้าไปบนพื้นผิววัสดุ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซให้ดียิ่งขึ้น แล้วทดสอบอัตราเร็วในการดูดซับและอัตราเร็วในการปลดปล่อยของก๊าซ รวมทั้งศึกษาวิธีการและประสิทธิภาพในการนำตัวดักจับกลับมาใช้ซ้ำ นับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเลือกใช้สารดูดซับและการออกแบบระบบดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

วัสดุดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากซิลิกาเชื่อมต่อด้วยเอมีน เป็นผลงานวิจัยของผู้ศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 หรือ www.petromat.org, เฟสบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th