ศูนย์ฯ จับมือญี่ปุ่น และ ‘สหวิริยาสตีล’ เตรียม​วิจัยใช้ ‘โฟโตคะตะไลซิส’ ผลิตก๊าซไฮโดรเจน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ สานความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ในโครงการนำร่องพัฒนาการใช้วัสดุตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงเพื่อการผลิตก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขอทุนดำเนินโครงการ

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 2565) ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ รองศาสตราจารย์ ดร.พรนภา สุจริตวรกุล และทีมวิจัยของศูนย์ฯ ได้ประชุมร่วมกับ Professor Tomoaki Watanabe จาก ม.เมจิ พร้อมด้วยคุณสมศักดิ์ พิฆเนศวร ดร.อภิชญา แต้มเพ็ชร และคุณนุปกรณ์ คชรักษ์ ซึ่งเป็นคณะทำงานของสหวิริยาสตีลฯ ด้านเทคโนโลยีพลังงาน

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางญี่ปุ่นจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่สหวิริยาสตีลฯ โดยจะมีการผลิตวัสดุตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงให้ได้ในประเทศไทย จากนั้นจะนำวัสดุที่ผลิตขึ้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในโรงงานต้นแบบ โดยวัสดุดังกล่าวสามารถแยกน้ำให้เป็นก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งนำไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนต่อไปได้ ทั้งนี้ศูนย์ฯ เป็นตัวเชื่อมนักวิจัยมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน และเป็นแกนนำในการขอทุนเพื่อดำเนินงาน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th