Interview Pathway to Net Zero Emission for Thailand

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

หลังจากการประชุม COP26 ท่านนายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ประกาศว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ทำให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วน วันนี้ PETROMAT ได้รับเกียรติจากคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกรรมการบริหาร PETROMAT มาช่วยเราไขข้อสงสัย และแนะแนวทางที่ถูกต้องในการเดินเข้าสู่ Net Zero Emission

• Carbon Neutral และ Net Zero Emission สำคัญอย่างไร
• เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่ Carbon Neutral และ Net Zero Emission

ทาง PETROMAT ได้รู้จักคุณเกียรติชายในบทบาทผู้บริหารของบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของประเทศและกรรมการบริหารของ PETROMAT โดยคุณเกียรติชายช่วยแนะนำ PETROMAT ไม่ให้ตกเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ปัจจุบันคุณเกียรติชายได้มารับตำแหน่งผู้อำนวยการ TGO ในโอกาสนี้ PETROMAT จึงขอเข้าสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมา บทบาท และหน้าที่ของ TGO

“โลดแล่นอยู่ในวงการปิโตรเคมีของภาคเอกชนมาโดยตลอดจนเกษียณ” คุณเกียรติชายเริ่มต้นการทำงานด้านปิโตรเลียม จับงานด้าน Oil & Gas ตั้งแต่สมัยหลุมน้ำมันดิบเพชร มีประสบการณ์ด้านการกลั่นน้ำมันดิบ ตลอดจนการจัดหาและการตลาดต่างประเทศกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มากว่า 20 ปี ก่อนที่จะเบนเข็มมาดูด้านพลังงานทดแทน พลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ และสุดท้ายได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องแผนและความยั่งยืนขององค์กร

“ผมเคยดูแลด้านยุทธศาสตร์ทั้งหมดขององค์กร ดูทิศทาง การวางเป้าหมายขององค์กร บางจากฯ ตั้งเป้าจะเป็น Net Zero บางจากฯ มองว่ากระแสนี้มาแรงแน่ๆ มองว่าโรงกลั่นปิโตรเลียมจะอยู่ได้ไม่นาน และมองว่าไฟฟ้าสะอาดต้องมา Bio ต้องมา บางจากฯ เปลี่ยนบริษัทเป็น Green Innovation เราใช้คำว่า Greenovation เปลี่ยนองค์กรพลังงานเป็นองค์กรนวัตกรรม” บางจากฯ ได้เชิญองค์กรที่ทำ Business Canvas ระดับโลกมาทำการอบรมเพื่อเปลี่ยนองค์กรจาก Execution เป็น Innovation สุดท้ายองค์กรจะทำแต่เทคโนโลยีเดิมไม่ได้ จะต้องทำเรื่องใหม่ที่เป็นจุดแข็งของโลกในอนาคต องค์กรจะต้องมีการลองผิดลองถูก ต้องทำ Technology Readiness Level หรือ TRL ทุกอย่างจะต้องต่อยอดเป็น Business ได้ ใช้หลักการลงทุน 100 โครงการ จะต้องมีความเป็นไปได้ 20 โครงการ และจาก 20 โครงการจะต้องกลายมาเป็น Business อย่างน้อย 5 โครงการ ซึ่งต้องเป็นของจริง ไม่ใช่การทดลองเพื่อผลงานตีพิมพ์ ก่อนที่จะเกษียณ ผมเป็น CEO ในหลายองค์กรในกลุ่มบางจากฯ กำลังสนุกอยู่กับงาน เพราะกำลัง Transform บางจากฯ จาก Petroleum Base มาสู่ทิศทางที่เรียกว่า Green “เราใช้คำว่า Greenovation หมายถึง มี Green อีกมากที่เรายังไม่รู้ มีความท้าทายในเรื่องนี้อีกมาก ยังมี Black Box อีกหลายเรื่อง” องค์ความรู้ด้านนี้ ภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ภาคการศึกษาอย่าง PETROMAT ช่วย เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เหมือนกับปิโตรเลียมที่มีตำราอยู่พอสมควร เป็นสิ่งที่ท้าทาย และผมเองก็ชอบเรื่องนี้

หลังจากการเกษียณ บางจากฯ ได้มอบหมายให้คุณเกียรติชายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ประจำอยู่ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และช่วยงานสถาบันวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ในช่วงเวลานี้ทำให้คุณเกียรติชายมีเครือข่ายกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพิ่มขึ้นเพราะได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารด้วย หลังจากทำงานที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่หลายเดือน จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็มาถึง คุณประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ได้มาแจ้งข่าวการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการ TGO คนใหม่ และได้ทาบทามคุณเกียรติชายให้ลองสมัครดู

“จะเป็นไปได้อย่างไร ผมทำงานแต่เอกชนจะไปทำองค์กรมหาชนได้อย่างไร คนละสไตล์เลย เป็นไปได้เหรอที่กระทรวงจะรับผม” โอกาสครั้งนี้ทำให้คุณเกียรติชายต้องคิดทบทวนอย่างหนัก เพราะด้วยตำแหน่งของคุณเกียรติชายในเวลานั้น จะต้องไปทำงานร่วมกับหลายองค์กร แต่ในที่สุดคุณเกียรติชายได้ตัดสินใจลองสมัคร “ผมทำตามกระบวนการสรรหาของ TGO เข้าสัมภาษณ์ ไปแสดงวิสัยทัศน์ มีคู่แข่งค่อนข้างมาก ในใจคิดว่า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สุดท้ายเกิดได้ขึ้นมาและเป็นงานที่ชอบอยู่แล้ว เพราะว่ามีประสบการณ์เป็นตัวแทนของบางจากฯ เข้าไปร่วมกับกระทรวงพลังงานในการทำแผน Roadmap การลดก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงาน เคยทำกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) เรียกโดยย่อว่า CDM ตอนนั้นบางจากฯ เตรียมตัวจะเป็นถึงผู้ขายเครดิต ทำให้ผมมีข้อมูลอยู่มากพอสมควร บวกกับมีเครือข่ายจากการทำงานที่สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้มาทำงานที่ TGO”

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภายใต้การนำของคุณเกียรติชายเป็นอย่างไร

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก คุณเกียรติชายได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากราชการ ให้มีการปรับเอาแนวทางของเอกชนมาประยุกต์ใช้รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น “เราพยายามให้ข้อมูลฝ่ายการเมือง ให้ข้อมูลในข้อเท็จจริงต่างๆ ในการวางเป้าหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่อง Real ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ จะต้อง Transform ต้องสร้างโอกาส ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะท่านวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในที่สุดท่านนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับเรื่องการปรับเป้าหมายใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการร่นเป้าหมายการปรับ Carbon Neutrality ของไทยในปี ค.ศ. 2050 โดยเร็วเข้ามา 15 ปี จึงเป็นเรื่องร้อนแรงและท้าทายมาก ทำให้ประเทศไทยมีที่ยืนพอสมควรในเส้นทางนี้ ณ ชั่วโมงนี้ ทุกอย่างจะได้รับผลกระทบจากแนวความคิดหรือกระแสตรงนี้ทั้งหมด ภาคธุรกิจ ระบบการศึกษา ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของประเทศ โดยเฉพาะภาคพลังงาน ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิล และเกิดแรงเหวี่ยงมาด้านชีวภาพ วิชาที่เราศึกษากันด้าน Value Chain ของปิโตรเลียมจะต้องเปลี่ยนแปลง และจะถูกลดบทบาทลงจนหายไปในช่วง 20 ปีข้างหน้า จะเกิดวิชาใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นที่อเมริกาและยุโรปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยเข้าเรื่องนี้หลังประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีหรือการออกแบบกระบวนการ (Process Design) ในขณะที่เขาเตรียมออกแล้ว เราเพิ่งจะเข้า ถ้าเรากระโดดแบบกบ เราควรเว้นช่วงแล้วกระโดดใหม่เลยก็ได้ แทนที่เราจะไปตามเขาอยู่ ก็กระโดดไปที่จุดที่เราจะได้เปรียบเลยก็ได้ บริบทเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ร้อนแรงจริงๆ เราจะจัด Thailand Climate Action Conference (TCAC) คล้ายๆ COP Thailand ครั้งแรกของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม เราจะเชิญทูตานุทูต เชิญภาคส่วนด้านพลังงานและภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงองค์กรส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ภาคการศึกษาก็มีความกระตือรือร้นมากโดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้กำลังประกวดทีม Startup ที่จะมาทำเรื่อง Net Zero เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องการ Technical ในการอธิบายเชิง Policy ด้วย ถ้าเรื่องนี้ถูกสื่อให้เข้าใจได้ Policy จะชัดมาก ผมได้มีโอกาสที่ทำตรงนี้เพื่อให้เกิด Jigsaw เข้าหากัน มาเกือบ 2 ปีแล้ว คิดว่าอีก 2 ปีถัดจากนี้จะได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงพอสมควร”

กระแส Net Zero จาก COP26 เมื่อเวลาผ่านไปจะจางหายไป เหมือนเรื่องก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตก่อนหน้านี้หรือไม่

“เรื่องของเรื่องคือเดิมทีเรื่อง Climate Change หลายๆ คนยังไม่ตระหนัก เมื่อเริ่มเห็นภัยเกิดขึ้นจริง กระแสเรื่องนี้ก็เริ่มมา” คุณเกียรติชายอธิบายว่าในอดีตโลกของเราสร้างรายได้จากการขายสินค้า เมื่อมีการตั้งโรงงานมากขึ้น จึงเกิด Pollution เป็นที่มาของการตั้งโรงงานจะต้องควบคุม Pollution ทั้งทางอากาศ ของเสียที่เป็นของแข็ง และน้ำ ทำให้เกิด Technology และ Solution มากมาย เช่น Water Treatment, Waste Management, Absorbent, Pollution Control, Material Science, Process Engineering ทำให้การผลิตต่างๆ ต้องคำนึงถึงวัตถุดิบ กระบวนการผลิต Utility และ Pollution ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA)

“ในสมัยก่อนคนยังไม่เคยเจอมินามาตะ ยังไม่เจอว่าคนเกิดอันตรายจาก Pollution ยังไม่รู้ว่าน้ำเสียทำให้ปลาตาย หลังจากนั้นเป็นอย่างไร มีการพัฒนา สร้างกฎหมายเพื่อป้องกัน วิศวกรช่วยกันออกแบบอุปกรณ์” วันนี้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ก็มี Solution หลายอย่างที่ยังเอาตัวไม่รอด เช่น PM2.5 อย่างไรก็ตาม Pollution ในทุกรูปแบบสามารถที่จะจัดการได้ แต่ปัจจุบันเรามีปัญหากับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHG) มันเหมือนโรคมะเร็ง หมายความว่า มันเกิดจากก๊าซบางตัวซึ่งมันไม่เป็นพิษ ก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มันไม่เป็นพิษนะ ไม่เหมือนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่หายใจเข้าไปแล้วตายทันที แต่ถ้าเกิดการสะสม CO2 มากๆ จะเกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกขึ้น เมื่อความหนาแน่นของ CO2 มากขึ้น จะเกิดการสะสมของความร้อน มันเป็นการรับรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

การสะสมของ GHG มีวิวัฒนาการมาอย่างไร

หลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์พบเจอถ่านหิน รู้จักการใช้ Oil & Gas สมัยนั้นทุกอย่างยังปกติ ทุกคนไม่ได้ให้ความสนใจ แต่สุดท้ายพบว่ามันมีปัญหา เรียกว่า Anthropogenic GHG หรือ GHG ที่เกิดจากมนุษย์ เกิดจากการนำถ่านหินมาเผาไหม้ (Combustion) คือ สาเหตุหลักที่สร้าง CO2 ที่ Unbalance ขึ้นมาในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไปประมาณ 0-10 กม. จะมีเมฆอยู่มาก เป็นที่สะสมของ CO2 ไอน้ำ มีเทน ซึ่งก็คือ Biogas ที่เกิดจาก Reaction ของแบคทีเรียกับสารประกอบอินทรีย์ (Organic Compound) พวกนี้เกิดจากการเกษตร ที่จริงการเกิดก๊าซเรือนกระจกโดยธรรมชาตินั้นมีอยู่ แต่เสียสมดุลเนื่องจากมนุษย์ไปนำฟอสซิลมาเผา

การสร้าง CO2 สาเหตุที่ 2 เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ CO2 Balance เสียไป ปกติ CO2 จะถูกดูดซับ (Absorb) โดยต้นไม้ เมื่อมนุษย์ไปตัดต้นไม้จึงทำให้ CO2 Absorption Rate เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนพื้นที่เพื่อการเกษตร ก็ทำเกิดของเสียจากการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรน้ำขังจะเกิดก๊าซมีเทน เกิดการพัฒนาพันธุ์สัตว์ นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เลี้ยงแกะ เลี้ยงวัว เป็นฟาร์ม ปศุสัตว์ ก็จะเกิด “ก๊าซมีเทน” อีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนพื้นที่ดินจากป่ามาเป็นเกษตรเป็นสาเหตุใหญ่อันดับ 2 ของมนุษย์ที่มาทำให้เกิด GHG

หลังจากนั้น มนุษย์ได้เปลี่ยนพื้นที่อยู่อาศัย จากที่อยู่ห่างๆ กันแบบชนบทมาเป็นสังคมเมือง มีขยะ มีโรงงานอุตสาหกรรม เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เริ่มเป็นการ Create Sideline ของ GHG โดยสหประชาชาติได้สรุปว่ามีการสะสม GHG มาแล้ว 2,400 กิกะตัน เป็นผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปัจจุบันสูงขึ้นมากกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว

เคยได้ยินว่า ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจากวันนี้อีก 0.3 องศาเซลเซียส มนุษย์จะอยู่ไม่ได้

“การสะสมของ GHG ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของโลก ทำให้เกิดภัยพิบัติซึ่งหนักกว่า Pollution และอาจจะทำให้เราต้องเปลี่ยนที่อยู่ คืออยู่ที่เดิมไม่ได้ สิ่งที่คุณพัฒนามา คุณอาจจะไม่ได้ใช้มัน โลกแห่งนี้อาจจะไม่ได้อยู่เป็นโลก สภาพแบบนี้อาจจะทำให้คุณไม่มีอาหาร” จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ได้เตือนว่าอย่าประมาทเรื่อง Climate Change

“จากรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report หรือ AR6) ของ IPCC สรุปได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง ปัญหาต่างๆ ของโลก ไม่ได้เกิดมาจาก Pollution แต่เกิดมาจาก GHG ที่ถูกสะสมมานานตั้งแต่ ค.ศ. 1850 นั่นเอง” เหมือนกับการบอกว่าทำไมถึงเป็นมะเร็ง ผลจากพฤติกรรมการบริโภคที่มีมาตลอด โลกจึงเกิดอาการที่ชัดเจนมากใน 2 ปีที่ผ่านมา อย่างประเทศไทย เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เจออากาศหนาวเยือก ดังนั้น มันเริ่มชัดเจนขึ้นว่าพื้นที่ใดๆ ในโลก สภาพภูมิอากาศมันเปลี่ยนไป ซึ่ง IPCC ต้องใช้เวลาถึง 30 ปีในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยปัจจัยที่เป็นสาเหตุคืออุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากการสะสมของ GHG จากการป้องกัน Pollution มาสู่การป้องกัน Climate Change เป็นยุคของการ Combat to Climate Change ซึ่งก็คือคลื่นลูกล่าสุด

ตอนนี้ในโลกของเรามันเหลือช่องว่าง (Budget) ให้ใส่ GHG ได้ไม่เกิน 500 กิกะตัน มีการประเมินว่าปัจจุบันอุณหภูมิสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มนุษย์จะเริ่มที่จะอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตการเกษตร อาหาร ปริมาณน้ำจืด สมดุลของระดับน้ำทะเล การละลายของน้ำแข็ง พายุ ภัยพิบัติต่างๆ จะทวีมากกว่านี้หลายเท่า เป็นการขึ้นแบบ Exponential ไม่ใช่แบบ Linear โดยประเมินว่า 0.3 องศาเซลเซียส ที่เหลืออยู่ จะใช้เวลาไม่เกิน 20 ปี

ผลกระทบรุนแรงขนาดนี้ แต่ทำไมเพิ่งมาจริงจังหลังจากการประชุม COP26

“วันนี้มีการกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องตั้งเป้าว่าจะไม่ปล่อย GHG ออกมาในโลกแล้ว ที่เรียกว่า Net Zero ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีวันที่จะไม่ปล่อย แต่มีวันที่จะปล่อยน้อยที่สุดที่ทำได้ เมื่อปล่อยน้อยที่สุดจะต้องหาทางกักเก็บ GHG เอาไว้ให้ได้ เรียกว่าปล่อยสุทธิเป็นศูนย์นั่นเอง”

สมัยก่อนมีการกำหนดให้ประเทศใหญ่ๆ รับผิดชอบ ประเทศเล็กๆ ไม่ต้อง ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ตอนนั้นเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่ต้องมีเป้าในการลด GHG ก็ได้ เป็นประเทศที่สามารถสร้างโครงการดีๆ โครงการที่มีต้นทุนการปล่อย GHG ต่ำกว่าคนอื่นเขา สามารถนำไปลบการปล่อย GHG ของคนอื่นได้ เรียกว่า “โครงการถ่ายโอนความสำเร็จของการลด GHG” ซึ่งสามารถนำมาประเมินเป็นเครดิตได้ตั้งแต่สมัย พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) TGO จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรับรองโครงการลักษณะนี้ คือ เป็นคนรับรองโครงการของประเทศไทย เพราะเราไม่มีเป้าในการลด GHG จึงนำโครงการพวกนี้ไปขายเพื่อลบบาปของประเทศใหญ่ๆ ได้ โดยจะต้องมีมาตรฐาน ต้องมีวิธีประเมินซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือน Pollution ที่สามารถวัดได้โดย Physically และ Chemicals แต่ Climate เป็นข้อมูลในอดีตที่เปรียบเทียบและนำสิ่งที่เปรียบเทียบมาดูว่า GHG ลดลงจริงหรือไม่ ไม่ได้วัดเป็น Instrument แต่การวัด CO2 วัดเป็น Activity เช่น ปริมาณการใช้น้ำมัน ปริมาณการใช้ก๊าซ ซึ่งสามารถคำนวณ Heating Value และ Emission Factor ได้ เป็น Database ทำให้ประเมินว่า ณ จุดนี้ในอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร เป็น Database ไม่ใช่ Realtime Base ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน จึงเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งในการรับรองปริมาณการปลดปล่อย GHG ในแต่ละกิจกรรม

“ตอนที่ผมไปเข้าร่วมการประชุม COP26 พบว่าตัวแทนจากประเทศต่างๆ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องพวกนี้มาก จนรู้สึกว่าเราตามหลังเขามาก จึงป็นเรื่องท้าทายให้ประเทศไทยจะต้องเก่งเหมือนประเทศพวกนี้เช่นกัน และองค์กรของเราจะต้องทำได้ด้วย สามารถประเมินและนำองค์ความรู้มาใช้ในองค์กรของเราได้ นี่เป็น Challenge ของผมเอง เพราะมันเป็น Black Box ซึ่งเราไม่ค่อยรู้ มันเป็นศาสตร์ใหม่เหมือนกับการซื้อขายล่วงหน้า การทำ Blockchain” เนื่องจากปัญหา Climate Change ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่ง Climate Change เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน เรียกว่า Social Cause of Carbon Emission คือถ้าปล่อยคาร์บอนออกไป 1 ตันจะกระทบเท่าไหร่ เหมือนการโยนระเบิดเวลาเข้าไป หรือปล่อยอนุมูลอิสระเข้าไปเพิ่มในร่างกาย ซึ่งจากการคำนวณพบว่าเหลือเวลาไม่เกิน 20 ปี ที่อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม นี่เป็นสิ่งแรกที่ COP26 นำเสนออกมา ซึ่งที่ผ่านมา ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าเรื่องนี้ไม่จริง ทำให้การร่วมมือระดับโลกเพี้ยนไป แต่พอสมัยของประธานาธิบดีไบเดน อเมริกาเข้ามาร่วมตรงนี้ ทำให้ความร่วมมือของโลกเข้มแข็งขึ้น

เพื่อเป็นการแสดงความร่วมมือในการประชุม COP26 ประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

“วันนี้มีการกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องตั้งเป้าว่าจะไม่ปล่อย GHG ออกมาในโลกแล้ว ที่เรียกว่า Net Zero ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีวันที่จะไม่ปล่อย แต่มีวันที่จะปล่อยน้อยที่สุดที่ทำได้ เมื่อปล่อยน้อยที่สุดจะต้องหาทางกักเก็บ GHG เอาไว้ให้ได้ เรียกว่าปล่อยสุทธิเป็นศูนย์นั่นเอง”

การกักเก็บ GHG มี 2 วิธี
1) Nature Based Solution คือกักเก็บด้วยต้นไม้ แต่ต้นไม้ไม่ได้มีทั่วโลก แต่ละประเทศมีต้นไม้ไม่เท่ากัน ดังนั้นวิธีนี้ยังไม่ใช่คำตอบ
2) Technology Based Solution เรื่องนี้เป็น Challenge ว่าเทคโนโลยีอะไรที่จะกักเก็บคาร์บอนได้และตอบโจทย์โลกแห่งนี้ เช่นเดียวกับการ Absorption สารประกอบซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOX) มาเก็บในรูปไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) กระบวนการกักเก็บที่เรียกว่า Carbon Capture หรือ Carbon Capture Utilization หรือ Bio Capture Solution เป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะมา

“วันนี้ ถ้าคุณจะใช้ปิโตรเลียมคุณจะต้อง Decarbonized จนได้ไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาด นอกจากนี้คุณยังต้องเตรียมการปรับตัว ถ้าเอาตัวให้รอดจะต้องทำอย่างไร ตรงนี้มีการพูดถึงงบประมาณหลักล้านล้านดอลล่าร์ เพื่อที่จะ Transform ทั้งโลก” อเมริกาได้ลงทุนไปจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพลังงานไฟฟ้า ต่อไปค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น เนื่องจากว่าจะต้องเลือกระหว่างการใช้พลังงานฟอสซิลแต่ต้องกักเก็บคาร์บอน หรือใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นใน EU แล้ว มีการควบคุมดัชนีการเกิดคาร์บอน (Carbon Intensity) เพิ่มขึ้นมา แนวทางของอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมที่ Clean ที่ไม่เกิดคาร์บอนจะเริ่มมา ส่งผลต่อทิศทางของโลก ค่าไฟฟ้าของเยอรมันราคา 39 เซ็นต์ต่อหนึ่งยูนิต ขณะที่ประเทศไทยไฟฟ้าราคา 10 เซ็นต์ต่อหนึ่งยูนิต ซึ่งไฟฟ้าสะอาดราคาสูงกว่าเกือบ 4 เท่า เป็นที่แน่นอนว่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น โลกจะเป็นแบบนั้น ทุกคนจะไม่ยอมใช้และไม่อนุญาตให้ใช้ Utility ที่ไม่สีเขียวแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไปกำหนดประเทศ ประเทศจะไปกำหนดให้ธุรกิจใหญ่ตั้งเป้าเป็น Net Zero Organization ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายสิบองค์กรจาก 208 องค์กรที่ตั้งเป้าเป็น Net Zero ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอน พยายามหา Nature Based Solution มาเติม และสุดท้ายมาจบที่การกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็น Solution ใหม่ที่น่าสนใจ ถ้าองค์กรไหนทำไม่ได้ ก็ต้องไปเปลี่ยนวัตถุดิบ เปลี่ยนสารเคมี เปลี่ยนกระบวนการ โดยคำนึงถึงเรื่อง Climate Concern ซึ่งจะมีความสำคัญในการกำหนดค่าการออกแบบ (Design Configuration)

ถ้าประเทศไทยไม่ตั้งเป้า Net Zero ได้เกิดผลกระทบอย่างไร

“ตอนนี้ประเทศไทยถูกบังคับ (Enforce)” ถ้าไม่ตั้งเป้า Net Zero ในปีที่แล้ว หรือท่านนายกรัฐมนตรีไม่ไปร่วมงานประชุม COP26 ประเทศไทยอาจจะไม่มีที่ยืนในองค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรี (FTA) การตกลงการค้าต่างๆ นานาประเทศจะไม่คุยกับเรา ทั้งโลกเริ่มกดดันในเชิงความร่วมมือ ประเทศไทยอาจจะได้รับการ Sanction แบบรัสเซีย ลักษณะแบบนี้จะเกิดขึ้นมาก ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ทำตามอนุสัญญาหรือแนวทางของโลก ปัจจุบันการส่งออกไปสู่ยุโรปและเมริกาจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน ถ้าคุณไม่ทำ Net Zero ก็ได้ แต่ถ้าคุณส่งออกจะถูกประเมิน Carbon Emission ว่ามีปริมาณการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป ถ้ายุโรปมีมาตรการที่เข้มข้นกว่าก็จะมีการปรับ เมื่ออเมริกานำกฎหมายตัวนี้มาใช้ จะเกิดผลกระทบต่อประเทศจีน ประเทศจีนต้องปรับตัว เพราะว่าการลงทุนทำ Net Zero มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการโดนปรับ เท่ากับว่า เป็นกำแพงภาษี (Tariff) ในการบังคับให้ประเทศที่ไม่ตั้งเป้า Net Zero ไม่สามารถค้าขายได้ นอกจากนี้ยังมี Tariff ที่จะมาบังคับในเรื่องการท่องเที่ยวอีก ถ้าการท่องเที่ยวของประเทศนั้นไม่เป็นสีเขียว ไม่ Net Zero Services ก็จะมีปัญหา สุดท้ายในเรื่องของสินค้า ถ้าคุณไปดูโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันจะเป็น Net Zero ทั้งนั้น เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ หรือการจัดอันดับ Forbes Rating จะมีเรื่อง Environment, Social และ Governance หรือ ESG เข้ามาพิจารณา เพื่อดูว่าองค์กรนั้นมีความยั่งยืนหรือไม่ ถ้าองค์กรไหนไม่มี ESG กองทุนต่างประเทศจะไม่เข้ามาลงทุน ซึ่งการลงทุนจากกองทุนต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ทำให้มีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงตลาดทุนของบริษัทต่างๆ ตลาดเงินก็เช่นเดียวกัน World Bank เริ่มกำหนด Green Fund ซึ่งจะไม่ปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่ใช้ถ่านหินหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะการลงทุนของประเทศไทยใช้เงินกู้ทั้งนั้น วันนี้ Ecosystem คลุมเรื่องพวกนี้ทั้งหมด ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุน ต้องกู้จากต่างประเทศอยู่ดี วันนี้กระแสมาแบบนี้ บริษัทใหญ่ๆ ของโลกอย่าง Shell หรือ ExxonMobil เปลี่ยนเป็น Net Zero หมดแล้ว ทุกวันนี้กระแสมันแรง อเมริกาผลักดันบริษัทและองค์กรของเขาแล้ว ทำให้ Supply Chain สาขาที่อยู่ในประเทศต่างๆ ต้องทำตาม หรือ บริษัทรถยนต์ต่างๆ ที่เป็น OEM ในแต่ละประเทศก็ต้องทำตาม

ภาคการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนา รวมถึง PETROMAT ควรปรับตัวอย่างไร เพื่อที่จะไม่เสียโอกาสจากกระแส Net Zero

“New Technology และการทำ R&D จะเปลี่ยนไปหมด เกิด Race to Zero องค์กรต่างๆ จะแข่งขันกันทั้งหมด ใครอยู่ข้างหลังจะเป็นผู้ซื้อ ใครอยู่ข้างหน้าจะเป็นผู้ขาย ทั้งประเทศจะพยายามวิ่งไปเป็นผู้ขาย” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2050 ทุกประเทศจะถูกห้ามปล่อยคาร์บอน และในปี ค.ศ. 2070 ทุกประเทศจะต้องไม่มีการปล่อยคาร์บอนอีกเลย จะมี 2 เทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้ คือ “เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน” แต่ถ้าไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ ก็ต้องกักเก็บคาร์บอนให้ได้ ดังนั้น “เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน” จึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่สำคัญ

ภาคอากาศยาน สายการบินระหว่างประเทศ มีการปล่อย GHG ปริมาณมากและปล่อยในเขตกลางของโลก ซึ่งต่อไปข้างหน้าต้องตั้งเป้าเป็น Carbon Neutrality คือห้ามเพิ่มคาร์บอนไปมากกว่านี้ เป็น Carbon Neutrality Growth ลักษณะนี้จะทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ไม่ได้ เพราะอากาศไม่มีตัวเก็บ สิ่งที่ทำได้คือชดเชย (Offset) โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuels) ดังนั้นจะมี Demand ของ Biofuels อีกมาก เพื่อรองรับการเติบโตของสายการบิน ดังนั้น สายการบินที่เพิ่มขึ้นตลอดจนถึงปี ค.ศ. 2050 ทำได้อย่างเดียว คือ มีการเติบโตเท่าไหร่ก็ต้องเอา Bio มาทดแทน เหตุที่ Bio ไม่นับเป็นการปล่อย CO2 เพราะเป็นการปล่อย CO2 ที่ Balance เป็น Short Term Life Cycle ของการ Absorb ของการหมุนเวียน เพราะฉะนั้น การเผา Bio ถือว่าเป็นการคืนสภาพกลับเป็น Normal Net Zero ไม่ใช่เป็นการนำฟอสซิลอายุล้านๆ ปีมาเผาไหม้ ซึ่งเป็น Unbalance

สำหรับภาคการเดินเรือ เส้นทางเดินเรือในทะเลมีพื้นที่มากกว่าบนบก เรือที่วิ่งหลักๆ มี 2 ประเภท คือ เรือบรรทุกน้ำมันและเรือสินค้า มีการตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 50% คือการเดินเรือไม่สามารถบอกว่าเป็น Net Zero ได้ ภาคอากาศยานสามารถเป็น Zero Growth ได้ แต่ภาคการเดินเรือ Net แล้วลดการปล่อยคาร์บอนลง 50% ถือว่ายอมรับได้ เนื่องจากปัจจุบันการเดินเรือใช้น้ำมันเตา จะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาเป็นน้ำมันดีเซลหรือพลังงานรูปแบบอื่น จนสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 50% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Supply เช่นกัน ชนิดของเชื้อเพลิงต่างๆ จะเปลี่ยนไป ปริมาณเปลี่ยนไป และกระทบต่อเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องบินและที่ใช้ในเรือ ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ไม่ต้องพูดถึง เพราะรถยนต์ EV มาแน่ กระแสมาทางนี้หมด

“ผมได้หารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านทาง ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดจะมุ่งมาด้านนี้ และน่าจะกระทบกับ PETROMAT แนวของ Solution จะเป็นเรื่องของ Raw Material Change, Utility Change, Circular Economy เป็นต้น”

Technology จากสถานศึกษาต้อง Challenge สู่ How to Develop Technology จะทำอย่างไรให้เกิด New Technology ที่ต้นทุนต่ำสุด พัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน เป็น Challenge ใหม่ เพราะฉะนั้น Technology หรือ Basic Design จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ถ้า เรามี Bio Feed ที่ดีๆ สามารถยกระดับวัตถุดิบชีวภาพทั้งหมด ให้เป็น High Value แทน Finish Product อื่นๆ ได้ หรือเรื่องการจัดการ Biomass ที่เป็น Waste ทั้งหลาย มาเปลี่ยนเป็นพลังงานแทนถ่านหินหรือฟอสซิลได้ ต่อไปเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมจะถูกทดแทนด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ และเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมจะถูก Converse ให้เป็นไฮโดรเจน Finish Product ที่ออกมาจะถูก Minimize การ Combustion เชื้อเพลิงปิโตรเลียมจะ Non-use เลย To be Use for Fuels ไม่ได้ แต่การนำปิโตรเลียมไปผลิตเป็นพลาสติกยังใช้ได้ Petroleum to Chemical หรือ Petroleum to Product ยังทำได้ แต่ต้องกักเก็บคาร์บอนไว้ แนวธุรกิจจะเปลี่ยน Keyword คือ ห้ามนำฟอสซิลไปเผา ถ้าจะเผาต้องเป็นไฮโดรเจน นี่คือข้อเท็จจริง เป็นข้อจำกัดของการออกแบบ เทคโนโลยี Carbon Capture และ Carbon Utilization จะเป็นทิศทางใหม่ นี่คือเทรนด์ของโลก และประเทศไทยก็จริงจังกับเรื่องนี้ นโยบาย BCG เอง คือการตอบโจทย์ ว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านภาษี นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ นโยบายให้คนที่ปล่อยคาร์บอนต้องรับผิดชอบต่อต้นทุนที่แพงขึ้น คนที่ทำโครงการดีๆ ต้องได้รับประโยชน์ มีกฎหมายรองรับ มีงบประมาณสนับสนุน โอกาสทางธุรกิจต้องมา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนด้วย

ธุรกิจที่จะมาพร้อม Net Zero มีอะไรบ้าง

ธุรกิจใหม่ที่มาแน่ๆ คือ เรื่องของรถยนต์ EV ประเทศไทยกำลังเปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนร่วมกับเราในด้านแบตเตอรี่ พลังงานหมุนเวียน การเกษตรสมัยใหม่ กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในด้านปิโตรเลียมจะเปลี่ยนไปในแนว Decarbonized หลุมหรือระบบต่างๆ จะใช้ Asset เดิมได้อย่างไร สามารถ Utilized Loop ต่างๆ เป็น Carbon Capture ได้ไหม ซึ่งตอนนี้ ExxonMobil กำลังทำแนวนี้อยู่เหมือนกัน

“เมื่อผมมารับตำแหน่งนี้และได้รับโอกาสไปร่วมงานประชุมนานาชาติทำให้รู้ว่า ถ้าประเทศเราไม่เป็น Net Zero เราจะเสียโอกาส กลายเป็นผู้ซื้อและผู้ตาม แทนที่จะเป็นโอกาส กลับกลายเป็นอุปสรรคแทน ถ้าเราเปลี่ยนแบบกบ เราไม่ต้องตามไปสู่เทคโนโลยีเดิมแล้ว เรากระโดดไปสู่เทคโนโลยีใหม่ได้เลย ซึ่งสิ่งใหม่นี้เป็นจุดแข็งของเรา เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เราสามารถเปลี่ยนได้ เราไม่ต้องไปปลูกมันสำปะหลังหรือปลูกข้าวน้ำเยอะแบบเดิม High Value Bioproducts เป็น Challenge ของประเทศไทย เราต้องนำนักวิชาการของเราที่เก่งๆ มาช่วยกันคิดเรื่องพวกนี้ เสริมทัพกัน เพื่อตอบโจทย์ EV Business หรือ Bioplastics ตอนนี้นโยบายของ BOI หรือของหน่วยงานต่างๆ ก็ส่งเสริมในทางนี้ทั้งหมด

PETROMAT เคยคุยกับกลุ่มธุรกิจ Bioplastics พบว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอให้อุตสาหกรรม Bioplastics ยั่งยืนได้ การส่งเสริมต่อจากนี้ไปจะมีแนวทางอย่างไร

ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตามนโยบาย BCG ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับ Net Zero ผมเองก็มีส่วนในการผลักดันเรื่องแรงจูงใจ (Incentive) ด้วย และในฐานะที่เป็นกรรมการบริหาร PETROMAT มาต่อเนื่อง มองว่า PETROMAT ควรมุ่งเป้าไปที่การวิจัยและพัฒนาวัสดุแบบใหม่ๆ ที่มาจาก Biobased หรือ เทคโนโลยีในการนำปิโตรเลียมมา Fixed Carbon ทำให้เกิดเป็น New Product ที่เป็น Carbonless Materials เรื่องนี้มีความน่าสนใจเพราะจะเป็นทางออกใหม่ เราจะเปลี่ยนจาก Fuels มาเป็น Materials ซึ่งก็คือหลักของ Carbon Capture Utilization เราจะนำคาร์บอนที่เรากักเก็บไว้มาสร้างผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร นี่คือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของ PETROMAT แต่ในบริบทของทั้งหมดจะมีมากกว่านั้น ถ้าเราพิจารณาดีๆ ประเทศไทยไม่ได้ขาดเรื่องทรัพยากรมนุษย์ คนของเรามีทักษะที่ดี เพียงแต่เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูกเท่านั้นเอง

วันนี้ อว. เน้นในเรื่องของการสร้างกำลังคน เพื่อจะ Collaboration ในเรื่อง New Energy Transformation พลังงานไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และ EV ตอนนี้จีนและอเมริกาเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเรายังช้าอยู่ เราจะตามประเทศอื่นๆ ไม่ทัน

กลไกอะไรที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Net Zero ได้เร็วขึ้น และเกาะกระแสไปกับนานาประเทศได้

เราต้องสร้าง “ตลาดคาร์บอน (Carbon Market)” ในประเทศให้ได้ ต้องสนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ ที่สามารถนำมาชดเชยการปล่อยคาร์บอน สร้างการ Optimized ของการแลกเปลี่ยนความดีกันได้ องค์กรก็ตอบโจทย์การเป็น Net Zero ได้เร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่ไปสนับสนุนให้เกิดโครงการใหม่ๆ ซึ่งถ้ามีต้นทุนต่ำกว่าก็สามารถทำกำไรได้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำโครงการดีๆ จะสามารถทำโครงการได้มากกว่าปกติ ทำส่วนเพิ่มให้คนที่ต้องการและมีต้นทุนสูง ทำให้เกิดการ Optimized การแลกเปลี่ยนซื้อขาย ตลาดคาร์บอนจะทำให้เกิดสมดุลภาพรวม และทำให้เกิดต้นทุนส่วนลดได้ เพราะว่าแทนที่เราจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง บางเรื่องเราสามารถซื้อ Outsource ได้ ถ้าเราทำเองต้นทุนเราสูง การซื้อ Outsource เท่ากับว่าเราลดต้นทุนได้ ในขณะที่คนรับงานมีกำไร แบบนี้ก็ Win-Win นี่คือการ Trading ในตลาดคาร์บอน ทำให้ต้นทุนรวมของประเทศในการลด GHG ลดลง แต่ถ้าเราไม่เปิดตลาดคาร์บอนในประเทศ คนเก่งๆ ที่ทำโครงการดีๆ ก็ทำแค่ของตัวเองเพราะไม่รู้จะขายใคร แต่เรากำลังสร้างโอกาสนั้น ทำไมคุณไม่ทำเยอะๆ แล้วขายคนอื่น คุณกำไรด้วย ในขณะที่คนอื่นเอาไปช่วยลด ดีกว่าทำด้วยตัวเอง นี่คือหลักการที่เรียกว่า Market Based Mechanism และสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกดีใจกันมาก คือ COP26 มีการประกาศให้ประเทศต่างๆ แลกเปลี่ยนความดีกันได้ด้วย เรียกว่า มาตรา 6 (Article 6) ที่บอกว่าประเทศต่างๆ ที่มีเป้าในการลด GHG สูงๆ สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ โดยการไปนำความดีของอีกประเทศหนึ่งมาใช้ได้ ถ้าอีกประเทศหนึ่งเขาเหลือและเขายอม ก็สามารถคุยกันสองต่อสอง หรือเป็นการซื้อขายในตลาดกลางก็ได้ แต่ประเทศที่คิดจะเป็นผู้ขาย คุณต้องทำตัวเองให้รอดก่อนนะครับ ถ้ารอดก็ขายได้ นี่คือหลักของ Article 6 สำหรับ COP27 ผมกำลังเตรียมการไปอียิปต์ในเดือนพฤศจิกายน จะมีความร้อนแรงกว่านี้

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากว่า “Net Zero ไม่ใช่อุปสรรค มันเป็นกระแสที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” ผมคิดว่าภาคการศึกษาและวิจัยอย่างจุฬาฯ หรือ PETROMAT ที่มีหลายมหาวิทยาลัยรวมกัน ต้องไปหาบริบทที่จะปรับตัวให้เข้ากับกระแสของ Net Zero ต่อไป

ขอขอบคุณ คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ เป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติในการให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online ต่อจากนี้ PETROMAT จะนำข้อเสนอแนะที่ได้ ไปพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย ตลอดจนการสร้างกำลังคนด้านการวิจัยระดับสูง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Net Zero

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th