Circular Economy แนวคิดธุรกิจโลกยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

Circular Economy หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นแนวคิดเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งที่เน้นใช้ทรัพยากรอย่างเป็นวงจร โดยมีกระบวนการ เช่น การซ่อมแซม การใช้ซ้ำ การแปรรูป ฯลฯ จึงช่วยลดขยะและของเสียจากการใช้ทรัพยากร ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ Circular Economy ยังช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ๆ จึงเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจและเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นแบบไหน ทำไมจึงไม่ยั่งยืน?

ก่อนจะรู้จัก Circular Economy ในอดีตโลกดำเนินอยู่ได้เพราะระบบนิเวศอยู่ในภาวะสมดุลระหว่างทรัพยากรที่ถูกใช้หมดไปกับศักยภาพที่ธรรมชาติจะสร้างทรัพยากรทดแทนขึ้นมาใหม่ ต่อมาหลายประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและในยุโรปมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ทำให้ทรัพยากรถูกใช้หมดไปในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อนำทรัพยากรเหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค

โดยแนวทางในการใช้ทรัพยากรเป็นไปในลักษณะ “ถลุง-ผลิต-ทิ้งไป” นั่นคือ ทรัพยากรถูกใช้หมดไปอย่างไม่ปรานีปราศรัยในการผลิตเป็นสินค้า หลังจากสินค้าหมดสภาพแล้วก็กลายเป็นขยะ โดยขยะสินค้าเหล่านี้รวมถึงของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ไม่ได้รับการหมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากรใหม่ตามแนวคิด Circular Economy ดังนั้น แนวทางในการใช้ทรัพยากรในลักษณะ “ถลุง-ผลิต-ทิ้งไป” จึงเรียกว่า Linear Economy หรือ “เศรษฐกิจแบบเส้นตรง” นั่นเอง

“ภายในศตวรรษนี้คาดการณ์ว่าต้องใช้ทรัพยากรมากถึง 1.5 เท่าของที่มีอยู่ในโลกถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ แต่แน่นอนว่าโลกมีให้ไม่พอ ซึ่งทางออกของปัญหานี้ก็คือแนวคิด Circular Economy”

เศรษฐกิจแบบเส้นตรงเข้าสู่ภาวะคู่ขนานกับความยั่งยืน

เมื่อก่อนต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ถลุงมาจากทรัพยากรธรรมชาติ มีราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนด้านแรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจจึงใช้ทรัพยากรหมดไปกับการผลิตสินค้าอย่างฟุ่มเฟือย กระทั่งช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในจีนและในอินเดีย ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางที่เป็นผู้บริโภคมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึง 3 พันล้านคน จึงส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการใช้ทรัพยากรมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อผลิตสินค้าไว้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากมาย ส่วนผู้ประกอบธุรกิจก็ได้กำไรจากการขายสินค้าไปอย่างมหาศาล

ต่อมาเมื่อทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมดไป ราคาต้นทุนด้านวัตถุดิบจึงน่าจะต้องขยับตัวแพงขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีความฟุ่มเฟือยน้อยลง สุดท้ายแล้วก็น่าจะลดการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ ทว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องแย่งกันทำตลาดเพื่อขายสินค้า ทำให้ไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้แพงขึ้นตามราคาต้นทุนด้านวัตถุดิบได้มากนัก ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะประหยัด ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจเองก็ต้องรับภาระต้นทุนด้านวัตถุดิบที่แพงขึ้น อีกทั้งอาจได้กำไรลดลงจากการขายสินค้า ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงเสนอแนวคิด Circular Economy ต่อมาองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Ellen MacArthur Foundation แห่งสหราชอาณาจักรก็ได้สร้างแนวทางในการนำแนวคิด Circular Economy ไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม

Circular Economy แก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่พร้อมห่วงใยสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าเศรษฐกิจแบบเส้นตรงจะประสบความสำเร็จในศตวรรษที่แล้ว แต่ทรัพยากรก็ถูกทำลายไปอย่างมากจนเหลืออยู่อย่างจำกัด ดังนั้น แนวคิด Circular Economy จึงออกแบบเพื่อให้เรามีทรัพยากรเพียงพอต่อการบริโภค

Circular Economy พัฒนาจากแนวคิดเรื่องวงจรการใช้ทรัพยากรแบบ “ผลิต-ใช้งาน-ส่งกลับคืน” นั่นคือ หลังสินค้าหมดสภาพแล้วจะไม่กลายเป็นขยะ แต่จะถูกส่งคืนกลับไปสู่ผู้ผลิตเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่ใช้ทรัพยากรในลักษณะ “ถลุง-ผลิต-ทิ้งไป”

ในระบบ Circular Economy มีวงจรในการส่งสินค้ากลับคืนไปสู่ห่วงโซ่ของผู้ผลิตอย่างเป็นกระบวนการ อาทิ การซ่อมแซมสินค้ามีตำหนิ การส่งสินค้าที่ชำรุดเสียหายกลับไปซ่อมแซม การรีไซเคิล ฯลฯ ดังนั้น ทรัพยากรจึงถูกใช้ไปอย่างประหยัดและสินค้าก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน นอกจากนี้ Circular Economy ยังส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง เช่น ลดหรือเลิกการใช้สารเคมีบางชนิดที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต

Circular Economy ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจให้บริการซ่อมแซมสินค้า และธุรกิจแปรรูปขยะให้เป็นวัตถุดิบ เป็นต้น จึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจ ส่วนผู้บริโภคก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นแทนที่จะทิ้งสินค้าที่ใช้งานไม่ได้แล้วไปเป็นขยะก็ส่งมันกลับให้ผู้ผลิตได้ใช้ประโยชน์

Circular Economy เป็นแนวคิดที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมนำเราไปสู่โลกยุคใหม่ที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

แหล่งข้อมูล

  1. บทความวิจัยด้าน Circular Economy: Sariatli, F. Linear Economy Versus Circular Economy: A Comparative and Analyzer Study for Optimization of Economy for Sustainability. Visegrad Journal on Bioeconomy and Sustainable Development 2017, 6 (1), 31–34.
  2. เว็บไซต์มูลนิธิ Ellen MacArthur: https://ellenmacarthurfoundation.org/topics/circular-economy-introduction/overview
  3. สถิติขยะจากภาคเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนในยุโรป: https://ec.europa.eu/eurostat/statistics-explained/index.php?title=Waste_statistics#Total_waste_generation
  4. สถิติขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทย https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th