Circular Economy คืออะไร…PETROMAT มีคำตอบ

เรื่องโดย ณัฐภัทร รัตนวิชัย

ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินชื่อของ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” (Bioeconomy / Circular Economy และ Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านเรื่อง BCG Model ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 วันนี้ PETROMAT ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนในแง่มุมต่าง ๆ ในปัจจุบัน ติดตามพร้อมกันได้เลยครับ

ความเป็นมาและนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียน

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดขึ้นราว ๆ ทศวรรษ 1970 ซึ่งในช่วงนั้น หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนเอง รวมถึงทรัพยากรที่ต้องนำเข้ามานั้นมีจำกัด เห็นได้ชัดจากราคาวัตถุดิบที่ขยับตัวสูงขึ้น และเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ลองนำแนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ พบว่า นอกจากจะทำให้ทรัพยากรถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังสร้างความรับผิดชอบต่อโลก แถมยังก่อเกิดผลกำไรที่เติบโตขึ้นในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้ผ่านการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก จึงส่งผลให้มีบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในเชิงปฎิบัติในการดำเนินธุรกิจเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต [1] โดยองค์กรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันทุกภาคส่วนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ “Ellen MacArthur Foundation” (EMF) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2010 โดยท่านผู้หญิงเอเลน แมคอาเธอร์ ได้ให้คำนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า ระบบที่จัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (Climate Change), การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss), ของเสียและสภาวะมลพิษ (Waste and Pollution) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยกระตุ้นให้เกิดโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ตลอดจนสินค้าและบริการที่ได้รับการออกแบบบนพื้นฐานของการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ [2]

นิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรต่าง ๆ และได้ให้คำนิยามในมุมที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เป็นสมาชิกหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ EMF ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดยผลักดันให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ด้วยระบบผลิตแบบหมุนเวียน คือ Make > Use > Return [3]

ในขณะที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ PTTGC ให้คำนิยามไว้ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน คือวิธีการดำเนินธุรกิจแนวใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบตั้งแต่การเลือกใช้ทรัพยากร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การใช้ การจัดการของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ บนหลักการของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดการเกิดของเสียให้ได้มากที่สุด และตอบโจทย์การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่นยืน [4] ส่วนทางด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้คำนิยามไว้อีกมุมมองหนึ่งว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ แนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ โดยการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดของเสีย จนท้ายที่สุดนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้น [5]

จากคำนิยามและแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนในแง่มุมต่าง ๆ จากหลายองค์กร สรุปเป็นภาพรวมได้ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ แทบทุกขั้นตอนไม่ควรมีอัตราการเกิดของเสีย เพื่อให้ทั้งกระบวนการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมูลนิธิเอเลน แมคอาเธอร์ ได้สรุปเป็นแนวคิดวัฎจักรทางชีวภาพและวัฎจักรทางเทคนิคเข้าในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และท้ายที่สุด เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตซึ่งเป็นสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน (Global warming) [6]

แหล่งข้อมูล

[1]. https://ellenmacarthurfoundation.org/

[2]. https://www.npc-se.co.th/

[3]. https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/

[4]. https://www.pttgcgroup.com/th/updates/news/884/ความหมายของ-circular-economy

[5]. https://www.egat.co.th/

[6]. คณะทำงานฯ รายวิชาการศึกษาทั่วไปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับระดับอุดมศึกษาคู่มือการสอน.รายวิชาการศึกษาทั่วไป: เศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในศตวรรษที่ 21 (Circular Lifestyle for the 21st Century)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th