เรื่องโดย นุสรา จริยสกุลโรจน์
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization : CFO) เป็นเครื่องมือที่แสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions and Removals) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานและกิจกรรมขององค์กรในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า องค์กรสามารถนำผลที่ได้ไปใช้กำหนดแนวทางบริหารจัดการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ แหล่งปล่อยที่มีนัยสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ภาครัฐกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Reporting) ขององค์กรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้จัดทำข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรขึ้นซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 14064-1(2018), GHG Protocol (2001, 2004) และตัวอย่างบางส่วนจาก ISO/TR 14069 (2013) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แบ่งกิจกรรมที่มีการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานขององค์กรไว้ 3 ประเภท ได้แก่
- ประเภทที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (SCOPE I)
- ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (SCOPE II)
- ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (SCOPE III)
ประเภทที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (SCOPE I)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง ได้แก่
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่อยู่กับที่ เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือเช่าเหมามาแต่องค์กรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น Boiler, Burner, Kiln, Diesel Generator, Diesel Fire Pump, การหุงต้มอาหารภายในองค์กร ชุดตัดแบบใช้แก๊ส หรือ การเผาขยะ/ของเสีย เป็นต้น
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเผาไหม้ของยานพาหนะต่าง ๆ อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่เคลื่อนที่ได้ เป็นต้น
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต เช่น ปฏิกิริยาเคมีภายในกระบวนการผลิต กระบวนการ Calcinations ของการผลิตปูนซีเมนต์
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหล และอื่น ๆ เช่น การรั่วไหลของสารทำความเย็นจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะทำการซ่อมบำรุง การรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์เฮ็กซาฟลูโอไรด์ (SF6) จากSwitchgear การใช้ถังดับเพลิง ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียและหลุมฝังกลบ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้ปุ๋ย หรือสารเคมีทำความสะอาด
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงของชีวมวล (ดินและป่าไม้) คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ปศุสัตว์หรือพื้นที่เกษตรกรรม หรือจากพื้นที่ชุ่มน้ำไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (SCOPE II)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น ไอน้ำ เป็นต้น
ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (SCOPE III)
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดที่ต้องประเมินดังนี้
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากวัตถุดิบตั้งต้นที่ซื้อมา เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่องค์กรซื้อมาใช้งาน ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษชำระ น้ำประปา หมึกพิมพ์ เป็นต้น
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากอุปกรณ์ประกอบธุรกิจ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากของเสียจากกิจกรรมในองค์กร เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการของเสียขององค์กรโดยฝังกลบ หรือการเผาทำลาย การรีไซเคิล ปริมาณน้ำมันในการขนส่งของเสียไปกำจัด เป็นต้น
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการขนส่งจากผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งวัตถุดิบมายังองค์กร การขนส่งทางท่อ
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขององค์กร เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันในการเดินทางของรถรับจ้างในงานขององค์กร การเดินทางโดยยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เพื่อติดต่อธุรกิจ การพักแรมเพื่อประกอบธุรกิจ
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากองค์กรสัมปทานในส่วนต้นทาง (Upstream Franchise) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการที่ลูกค้านำผลิตภัณฑ์ขององค์กรไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นผลิตผลิตภัณฑ์ของลูกค้า
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากสินทรัพย์ที่เช่ามาในส่วนต้นทาง (Upstream Leased Assets) เช่น การเช่าเครื่องถ่ายเอกสารขององค์กร การเช่า Storage Tank หรือการเช่ารถยก
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการลงทุน เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการให้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขององค์กร การให้เช่าห้องชุด การลงทุนร่วมกับหน่วยงานอื่น
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการเดินทางของลูกค้าและผู้มาติดต่อ
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการขนส่ง และกระจายสินค้า เช่น การขนส่งผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้า
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้งานของผลิตภัณฑ์ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนหรือความเย็น
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดซากของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากองค์กรสัมปทานหลังผ่านการผลิตขององค์กร (Downstream Franchise) เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ดำเนินงานด้าน Franchise
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากสินทรัพย์ที่เช่ามาหลังผ่านการผลิตขององค์กร (Downstream Leased Assets) เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงของผู้เช่า
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการเดินทางติดต่อของพนักงาน เช่น การเดินทางโดยยานพาหนะต่าง ๆ ของพนักงานในการมาทำงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำงานแบบ Work from Home
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น
การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 ตามรายการข้างต้น ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และระบุเกณฑ์ประเมินนัยสำคัญที่ใช้ในการพิจารณา หากองค์กรเลือกที่จะไม่รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 หรือไม่รายงานในบางข้อที่ต้องประเมิน ต้องมีเหตุผลรองรับเป็นลายลักษณ์อักษร โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินและกำหนดความสำคัญมีดังนี้
- กิจกรรมการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมซึ่งถูกสันนิษฐานว่ามีปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ
- กิจกรรมการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรมีความสามารถในการตรวจติดตามและลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้น
- กิจกรรมการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมซึ่งมีส่วนทำให้องค์กรได้รับความเสี่ยง
- กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมนนั้นจัดว่ามีนัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่กำลังพิจารณา ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือหรือแนวทางที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอุตสาหกรรมนั้น
- กิจกรรมการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการจัดจ้างบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินกิจกรรมที่ถือว่าเป็นกิจกรรมหลักในการดำเนินธุรกิจขององค์กร
- กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการลดการใช้พลังงานหรือการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายใต้หลักคิดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับองค์กรที่สนใจต้องการประเมินและขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีขั้นตอนดังแผนภาพต่อไปนี้
แผนภาพขั้นตอนการประเมินและขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
อย่างไรก็ตามปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรที่ประเมินได้จะใช้บ่งชี้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเท่านั้น ไม่ได้นำผลกระทบสิ่งแวดล้อมประเด็นอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การเกิดฝนกรด (Acidification) หรือความเป็นพิษ (Toxicity) มาประเมินร่วมด้วย
แหล่งข้อมูล
- https://drive.google.com/file/d/107IYK_4H49GJR7RCV89TzfAwM1lWP288/view?fbclid=IwAR0YReq2Jfy_rck6vLelP51yz0Rac4XwJFVk_O_EDYz47uZpH9fVHlSEQkc
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), ข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ขององค์กร, พิมพ์ครั้งที่ 7 (มกราคม 2564) : 16-18
- http://vgreenku.com/cfo/
- สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), เอกสารประกอบการอบรม “ข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตปริ้นท์ขององค์กร” : 31-42