ศูนย์ฯ ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาฯ และ สมาคมวิศวกรรมเคมีฯ จัด PPC&PETROMAT Symposium 2022 พร้อมเชิญกูรู ‘มิตรผล’ เปิดมุมมองด้านคาร์บอนเครดิต

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ และสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 28th PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers and The 13th Research Symposium on Petrochemical and Materials Technology พร้อมกันในวันเดียวกันนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Carbon Credits in Organizations” โดยมีวิทยากรรับเชิญจากบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

เวลา 8.20 น. ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวรายงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม โดยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาฯ และคุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีฯ ได้ร่วมกล่าวรายงานด้วย ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้ให้เกียรติเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ

ช่วงเวลาประมาณ 9.30 คุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรมของศูนย์ฯ ได้เสวนาร่วมกับ ดร.บุตรา บุญเลี้ยง บริษัท จากเอสซีจี เคมิคอลส์ (มหาชน) จำกัด ในหัวข้อ “Education x Industrial to Catalyze Friendly Net-Zero Transformation” โดยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ ศุภผล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สำหรับการเสวนาในช่วงนี้ คุณวรุณได้เล่าถึงที่มาและความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ มีงานวิจัยและโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ตัวอย่างหนึ่ง คือการประชุมวิชาการนานาชาติ The 11th International Symposium on Feedstock Recycling of Polymeric Materials (ISFR2022) ซึ่งจะจัดแบบ Carbon Neutral ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 โดยมีศูนย์ฯ เป็นแกนนำ

นอกจากนี้คุณวรุณได้พูดถึงโครงการ Chula Race to Zero เพื่อปรับตัวมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการลดการใช้ไฟฟ้าที่เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย โดยเมื่อรวมกับการใช้ทรัพยากรในส่วนอื่น ๆ พบว่าจุฬาฯ มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 55,000 ตันต่อปี ในอนาคตจึงจะมีการผลักดันในเรื่องการประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ให้มากขึ้น

ขณะที่ ดร.บุตรา ได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน การรีไซเคิลพลาสติก การพัฒนาเทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอน ฯลฯ โดยเน้นว่าภาคการศึกษาต้องพัฒนาบัณฑิตและการวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยเองก็กำลังมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ในอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า

ต่อมาในช่วงเวลา 10.30 – 12.00 น. ศูนย์ฯ เป็นเจ้าภาพสำหรับจัดเสวนาในหัวข้อ “Carbon Credits in Organizations – สร้างความยั่งยืนให้องค์กรด้วยคาร์บอนเครดิต” โดยคุณศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบริหาร กลุ่มมิตรผล ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากร และคุณสุวัฒน์ วงศ์โชติวัฒนา ผู้อำนวยการภาคพื้น ประจำประเทศไทย กัมพูชา และมัลดีฟส์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ได้ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการกิตติมศักดิ์ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเสวนาดังกล่าวมีมากกว่า 100 คน

บริษัทมิตรผลเป็นธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการเกษตรด้านอ้อยและการผลิตน้ำตาล โดยจุดเริ่มต้นของมิตรผลก่อนที่จะกลายเป็นผู้นำระดับประเทศด้านคาร์บอนเครดิต เกิดจากการที่บริษัทมีการบริหารจัดการทรัพยากรแบบหมุนเวียนในอุตสาหกรรมของตนเอง โดยเฉพาะการนำชานอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล และการนำกากน้ำตาลไปผลิตไบโอเอทานอล ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเป็นการลดของเสียในอุตสาหกรรม โดยพลังงานที่ทางมิตรผลผลิตได้ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ของบริษัท ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทำให้มิตรผลสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมหาศาล โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ทำให้บริษัทมีคาร์บอนเครดิตสะสมมากขึ้นถึงปีละ 800,000 ตัน ซึ่งสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการอื่นในอุตสาหกรรมของบริษัท หรือนำไปขายให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนขององค์กร โดยมิตรผลมีการตั้งเป้าหมายองค์กรไปสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2030 คือต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50 ก่อนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ มิตรผลเป็นต้นแบบองค์กรในการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็กำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050

นอกจากนี้ ในการประชุมวิชาการนานาชาติ PPC&PETROMAT Symposium 2022 มีการบรรยายโดยบุคคลสำคัญ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยของนิสิตนักศึกษาไทยและต่างชาติ ซึ่งสะท้อนถึงก้าวหน้าของประเทศในการวิจัยด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี วัสดุศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th