ผู้บริหารศูนย์ฯ ลงพื้นที่หาดใหญ่ ติดตามโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์ยางพารา Doctor N Medigel

ผู้บริหารศูนย์ฯ ลงพื้นที่หาดใหญ่ ติดตามโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์ยางพารา Doctor N Medigel พร้อมเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้-ศูนย์วิจัยคลินิก ม.อ.

เมื่อวันที่ 17-18 พ.ค. 65 ทีมผู้บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ นำโดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการเรื่องการพัฒนานักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG ที่ทำร่วมกับ บริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด พร้อมกันนี้คณะผู้เดินทางได้เยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จังหวัดสงขลา และศูนย์วิจัยคลินิก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ช่วงเช้าของวันที่ 17 ทีมผู้บริหารศูนย์ฯ ได้เข้าพบ ทพ.เมธี โกวิทวนาวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ ผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับการวิจัยผลิตภัณฑ์ยางพารา ภายใต้โครงการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ทำร่วมกับศูนย์ฯ

พญ.นลินี ได้นำเสนอที่มาของงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุกระจายแรงสำหรับผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันแผลกดทับ ซึ่งแต่ก่อนวัสดุดังกล่าวมีราคาแพงเพราะไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทฯ จึงได้วิจัยวัสดุกระจายแรงที่ใช้ส่วนผสมจากยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์เจลยางพาราป้องกันแผลกดทับภายใต้แบรนด์ Doctor N Medigel ซึ่งมีความต้องการมากโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ติดเตียงในที่พักอาศัย

โครงการวิจัยที่ศูนย์ฯ ทำร่วมกับทางบริษัทฯ มีนักวิจัยหลังปริญญาเอก 2 ท่าน ได้แก่ ดร.เจษฎาภรณ์ ช่วยแท่น ในโครงการวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสมบัติของฟิล์มยางธรรมชาติของวัสดุเจลพอลิเมอร์ห่อหุ้มด้วยยางพาราสำหรับผลิตภัณฑ์รองรับแรงกดทับอวัยวะผู้ป่วย” และ ดร.วรรณิดา ชื่นอารมย์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การยืดอายุการใช้งานของวัสดุกระจายแรงพอลิยูรีเทนเจลโดยการใช้กาวพอลิยูรีเทนเชื่อมประสาน และศึกษาส่วนบกพร่องพร้อมทั้งจัดการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลิตภัณฑ์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำผลงานวิจัยไปจดสิทธิบัตร

ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ทีมผู้บริหารศูนย์ฯ ได้เข้าพบคุณพรรณทิวา แก้ววิชิต ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ซึ่งได้นำทีมผู้บริหารศูนย์ฯ เข้าเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. รวมถึงโรงงานต้นแบบ ห้องปฏิบัติการ ส่วนการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์อันเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นภายใต้ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.อ.

ในการนี้ ศ.ดร.หทัยกานต์ ได้หารือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และเจรจาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกัน

ส่วนในวันที่ 18 ทีมผู้บริหารศูนย์ฯ ได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยคลินิก โดยคุณสุพัตรา อุปนิสากร พยาบาลชำนาญการพิเศษและผู้จัดการศูนย์วิจัยคลินิก ม.อ. เป็นผู้นำเยี่ยมชมศูนย์วิจัยฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ และเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์ไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th