“กรมโรงงานฯ” จับมือ “ปิโตรแมท” “สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ” ผนึกพันธมิตรภาคเอกชน จัดอบรมเพื่อพัฒนา CE Coach ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (ปิโตรแมท) และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 25 มกราคม 2565 เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้าง “CE Coach ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน” ให้มีความพร้อมสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ความยั่งยืนให้โรงงานทั่วประเทศ
พิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ โดยได้รับเกียรติจาก นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการสร้างที่ปรึกษาการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในโรงงานอุตสาหกรรม (CE Coach) และเป็นผู้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ประกอบการโรงงานและประกาศนียบัตรแก่ผู้ช่วยวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ “มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยกรมโรงงานฯ ร่วมกับ ปิโตรแมท และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ ในการจับคู่นักวิจัยมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการธุรกิจระดับ SMEs เพื่อนำร่องสร้างต้นแบบโรงงานในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านพลาสติกและฟอกหนัง
และกล่าวความเป็นมาของโครงการวิจัย มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดย คุณพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ ที่ปรึกษาโครงการฯ
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวิทยากรหลายท่าน นำโดย ดร.ภัสราพร พลับเจริญสุข หัวหน้าโครงการฯ
ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการปิโตรแมท ในฐานะหัวหน้าโครงการผู้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลาสติก และ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ศิรเลิศมุกุล อาจารย์สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการผู้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านฟอกหนัง ร่วมด้วยนักวิจัยผู้ร่วมโครงการฯ อีกหลายท่าน ซึ่งร่วมกันถ่ายทอดความรู้
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาปิโตรแมทได้สร้างต้นแบบโรงงานด้านพลาสติกซึ่งใกล้สำเร็จแล้วจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ส่วนในปีนี้เป็นการขยายผลโดยร่วมกับโครงการด้านฟอกหนังในการพัฒนา CE Coach จำนวนทั้งหมด 20 คน เพื่อเผยแพร่ต่อองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งเป้าหมายในการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับโรงงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมโครงการฯ จำนวนอย่างน้อย 150 แห่งในปีถัดไป
โครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐ อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ความยั่งยืน